บพข.-อว.นำดีพเทคสตาร์ทอัพไทย ร่วมงาน Techinnovation 2023 ประเทศสิงคโปร์

เวทีวิจัย

               หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปูทางสู่นักลงทุนต่างประเทศ สร้างเครือข่ายเทคโนโลยีนวัตกรรม โชว์ผลิตภัณฑ์วิจัยเชิงลึกจากสตาร์ทอัพไทยรุ่นใหม่   โดยมีรัฐมนตรีประจำรัฐกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการภายในงาน Techinnovation 2023 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม และจับคู่ธุรกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2023

               ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ กรรมการบริหาร บพข. พร้อมด้วย คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการ IDE บพข. รศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข. นำทัพดีพเทคสตาร์ทอัพไทย ที่ได้รับการพัฒนาจากแพลตฟอร์มเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก บพข. จาก 11 หน่วยงาน หรือ 11 Accelerator Platforms จาก 9 มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ( สวทช.) ที่ทำหน้าที่ผลักดันผลงานเทคโนโลยีเชิงลึก ทั้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีอาหารมูลค่าสูง และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที (IoT) ขั้นสูง เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศ เพื่อนำเสนอแก่นักลงทุนต่างชาติ ภายในงาน Techinnovation 2023 ณ ประเทศสิงคโปร์

               โดยภายในงาน Mr. Alvin Tan รัฐมนตรีประจำรัฐกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) และ Dr Beh Swan Gin ปลัดกระทรวงกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เข้าเยี่ยมชมผลงานภายในบูธ PMUC ซึ่งจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ ชุดตรวจวิเคราะห์ และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล หลายรายการ

Dr.Beh Swan Gin ปลัดกระทรวงกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์และผู้บริหาร บพข.

               ทั้งนี้ภายในงาน Techinnovation 2023   ตัวอย่างสตาร์ทอัพจากประเทศไทยที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ บริษัท มด กัต จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพจากบ่มเพาะของ ANT Accelerator  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งใน Accelerator ที่เริ่มต้นไอเดียธุรกิจจากงานวิจัยฐานข้อมูลทำนายสุขภาพจากการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ มีความแม่นยำสูงสำหรับไทยและอาเชียนโดยเฉพาะ  จากการรวมตัวของนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาในลำไส้ ร่วมกับการพัฒนาระบบเอไอ ทำหน้าที่วิเคราะห์ และอ่านผล เพื่อทำนายสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพป้องกันโรคร้ายแรง เช่น โรคกลุ่ม NCD มะเร็งหรือโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น

               นิจพร จงอุดมฤกษ์ CEO ฐิตะวดี เกียรตินิกร MD ดร.ศวรรณี สุธีร์วรพงศ์ CTO และ ดร.พินิตพล พรหมบุตร Commercial and Operation Manager ทีมบริหาร มด กัต ที่มองเห็นประโยชน์จากการใช้ข้อมูลการตรวจวิเคราะห์สังคมจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome) ว่ามีจุลินทรีย์เชิงสัญลักษณ์ (Bio Marker) ที่สามารถทำนายโรค และหาทางป้องกันก่อนเกิดโรคได้ โดยใช้ชุดตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ใช้ได้สะดวก เก็บตัวอย่างที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ส่งรายการตรวจวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพถึงบ้าน รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์เฉพาะอาการ สำหรับผู้สนใจทั่วไป หรือเป็นตัวช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น โดย มด กัต ตั้งเป้าเป็นฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ของคนไทย และอาเซียนโดยเฉพาะ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของคนไทย

                  

ชุดตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้
ทีมบริหาร แนบโซลูท เข้าร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ HYASPHEREX TM

               นอกจากนี้ยังมีบริษัท แนบโซลูท จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย เภสัชกรหญิงพุทธิมน ศรีบนฟ้า CEO และ เภสัชกรวรัท จันทะศรี Business Development Manager ที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub หนึ่งใน 11 Accelerator Platform บพข. ที่สามารถคิดค้นกรดไฮยาลูรอนิกโมเลกุลใหม่จากที่ดัดแปลงจากโมเลกุลสายโซ่ยาวแบบดั้งเดิมเป็นทรงกลมในรูปแบบนาโนเจล ซึ่งเป็นนวัตกรรมครั้งแรกในประเทศไทย ในชื่อ HYASPHEREX TM ทำหน้าที่เป็นบูสเตอร์ เพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารสำคัญสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ให้เครื่องสำอางให้ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า

               ซึ่งนวัตกรรม HYASPHEREX TM  มีบริษัทเอกชนนำนวัตกรรมไปใช้ในหลายบริษัทแล้ว บริษัทแนบโซลูท ยังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ NIA AWARDS 2023 และในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทแนบโซลูท ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Cosmetic 360 ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมพูดคุยและนำเสนอนวัตกรรมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกดังอย่าง Chanel และ LVMH เป็นต้น

ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ ซีทีโอ ออสซีโอแล็บส์

               ส่วนบริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด เป็นบริษัท SPIN-OFF จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยโครงการ ANT Accelerator แพลตฟอร์มบ่มเพาะธุรกิจ โดย ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ CTO ออสซีโอแล็บส์ และทีมนักวิจัยที่สามารถผนวกนวัตกรรมโดยการนำงานวิจัยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D print) ที่สามารถขึ้นรูปทรงที่มีความซับซ้อน เช่น รูปทรงรูพรุนที่ไม่สามารถขึ้นรูปด้วยการกลึงหรือการหล่อ การเพิ่มรูพรุน และปรับเปลี่ยนรูพรุนแต่ละบริเวณของกระดูกที่ต้องการรับแรง และรูปทรงเฉพาะแต่ละบุคคล และการศึกษาวิจัยวัสดุทดแทนกระดูก มาออกแบบและขึ้นรูปเป็น “วัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะ” สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายกระดูกบริเวณขากรรไกรและใบหน้า การทำรากฟันเทียม กระดูกข้อต่อ รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยการผ่าตัดได้มีประสิทธิภาพสะดวก แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น ปัจจุบัน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการนำมาทดลองใช้ในการรักษาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์การแทพย์ และขอมาตรฐานที่จำเป็น และเตรียมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ

วัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะ