รมต.ดีอีเอส มอบนโยบาย NT เน้น 7 เรื่องหลัก ทำองค์กรให้ทันสมัยมีขนาดเหมาะสม ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ส่วนคลื่น 5จี 26 กิกะเฮิรตซ์ หากจะลงทุนอุปกรณ์ ต้องคุ้มค่ามีตลาดรองรับ พร้อมหนุนเดินหน้าคลาวด์ภาครัฐต่อเนื่อง และให้ใช้เอ็นทีเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ เร่งการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ ย้ำหากจะดำเนินการหรือมีนโยบายใหม่ควรชะลอไว้ก่อนกันครหา รอให้บอร์ดครบ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน
วันนี้ ( 15 พ.ย. 66) ที่บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยหลังเดินทางมาร่วมประชุมบอร์ดและมอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานแก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) ว่า ปี 2568 หรือในอีก 2 ปีที่จะถึง เป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ NT ที่จะมีรายได้ส่วนหนึ่งลดลง ซึ่งตนเองให้ความสำคัญ และเห็นว่าNT เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในการเข้ามาตรวจเยี่ยมและร่วมประชุมบอร์ดในครั้งนี้ ได้ให้นโยบายในการดำเนินการ 7 เรื่องหลัก
เรื่องแรกคือ NT เกิดจากการควบรวม ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT)กับ บมจ. ทีโอที (TOT) ซึ่งทั้งสององค์กรมีบางส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนั้นด้วยวัฒนธรรมและวิถีที่ผ่านมาบางเรื่องมีความแตกต่างกัน จึงเห็นว่าเมื่อ่ รวมกันแล้วควรทำองค์กรให้ทันสมัย มีขนาดที่เหมาะสม คล่องตัวเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนฟื้นฟู ฯ เรื่องที่ 2 คือ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจากการควบรวมหลายเรื่องซ้ำกันทั้งในเรื่องของการลงทุน และประสิทธิภาพในการดำเนินการ ควรมีการปรับเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เช่น เรื่องสถานที่ทำงาน ถ้าอยู่แห่งเดียวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย
เรื่องที่ 3 การลงทุนในเทคโนโลยี 5จี คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่มีปัญหาผู้ใช้บริการคลื่นดังกล่าวในประเทศยังมีจำนวนน้อยดังนั้น การลงทุนในอุปกรณ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีความคุ้มค่า มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีตลาดหรือลูกค้ารองรับเสียก่อน รวมถึงต้องบูรณาการการลงทุนกับคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ได้ย้ำให้บอร์ดพิจารณาข้อมูลด้วยความรอบคอบ เพราะการลงทุนหลายอย่างอยู่ภายใต้การแข่งขัน เรื่องที่ 4 คลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลเดิมอนุมัติไว้แล้ว ประมาณกว่า 6,200 ล้านบาท ซึ่ง NT ควรสนับสนุนต่อเนื่อง ซึ่งหลายหน่วยงานมีการตั้งงบด้านดังกล่าวแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท หาก NT ช่วยในการดำเนินการ นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทแล้ว คาดว่าจะช่วยให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายในด้านดังกล่าวได้ไม่น้อยกว่า 30 %
ส่วนเรื่องที่ 5 อยากให้ NT ขอความอนุเคราะห์การสนับสนุนให้ NT เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ เนื่องจาก NT มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านโครงข่าย เน็ตเวิร์ก ที่ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตประชารัฐ คลาวด์กลางภาครัฐ และ ศูนย์ AOC 1441 ซึ่งข้อมูลถึงวันที่14 พ.ย.66 มีสายที่โทรเข้าร้องเรียนแล้วถึง 38,000 สายหรือประมาณวันละ 2,600 สาย และสามารถปิดบัญชีม้าไปแล้วกว่า 2,000 บัญชี
สำหรับเรื่องที่ 6 คือ การบริหารทรัพย์สินทุกอย่างของ NT ที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท หากสามารถบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ได้แค่ 3% จากมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ จะทำให้มีรายได้ ถึง 6 พันล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนฟื้นฟูของ NT ที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้การบริหารสินทรัพย์จำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับภาคเอกชนที่มีงบการทำตลาดที่สูงกว่า และสามารถรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นโจทย์ปัญหาของ NT แต่ก็มีหลายเรื่องที่ NT ได้เปรียบ เช่น การมีธุรกิจที่คนอื่นไม่มี อย่าง ซับมารีน เคเบิ้ล ส่วนโทรศัพท์มือถือ ที่ NT มีอยู่ประมาณ 2 ล้านเลขหมาย และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ควรหากลุ่มลูกค้าที่มีเป้าหมายชัดเจนหรือเป็นกลุ่มเฉพาะมากขึ้น
และเรื่องที่ 7 คือขณะนี้ NT อยู่ระหว่างการสรรหาคณะกรรมการหรือบอร์ดชุดใหม่ให้ครบองค์ประกอบ ซึ่งเดิมมีจำนวน 13 คน แต่ลาออกไป 6 คน แม้จะเหลือเกินครึ่ง แต่ระหว่างนี้หากมีการดำเนินงานหรือนโยบายใหม่ของบริษัทขึ้นมา ควรจะรอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดให้ครบองค์ประกอบเสียก่อน เพื่อป้องกันข้อครหาในการดำเนินงาน
“ ในเรื่องดังกล่าว ผมได้ให้นโยบายไว้ว่าบางเรื่องที่ได้ดำเนินการไป ให้ชะลอไว้ก่อน เช่น หลายสัญญาที่แม้จะไม่ได้ก่อภาระผูกพัน คือ ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา หรือบางเรื่องอาจจะมีการดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องลงนาม เพื่อรอความชัดเจน และควรจะคอยบอรด์ชุดใหม่ให้ครบองค์ประกอบเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2เดือน”
รมต.ดีอีเอส กล่าวอีกว่า “ ปี 2568 เป็นปีที่ท้าทาย NT จะสูญเสียรายได้ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ถ้าไม่เริ่มนับตั้งแต่วันนี้ ผมคิดว่าองค์กรอาจจะต้องประสบกับความยากลำบากโดยเฉพาะเรื่องการบริหารบุคลากร ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่กว่า 12,000 คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 35 % ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 25 % เพราะฉะนั้น แก้ปัญหาเรื่องคน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ถ้า NT สามารถขยายธุรกิจไปได้และมีการเติบโต เรื่องคนก็จะมีการบริหารควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องนำไปพิจารณา”