AIS อุ่นใจ CYBER ส่ง 12 ละครคุณธรรมตีแผ่กลลวงมิจฉาชีพ ด้านตำรวจไซเบอร์ย้ำ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” ไม่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์
AIS อุ่นใจ CYBER เดินหน้าภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทย ผ่านการพัฒนาเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล ควบคู่ไปกับสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะดิจิทัล ล่าสุด…จับมือมีความรู้ก็อยู่รอดพร้อมค่ายละครโซเชียล 3 ค่ายดัง “ กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และทีมสร้างฝัน” ส่ง 12 ละครคุณธรรม จากคดีดังภัยไซเบอร์ ร่วมตีแผ่กลลวงของมิจฉาชีพ พร้อมแนะวิธีการรับมือ
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากการทำงานเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลภายใต้ภารกิจของ AIS อุ่นใจ CYBER ทำให้ AIS เห็นถึงปัญหาจากภัยไซเบอร์ที่ยังมีผู้ไม่รู้เท่าทันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์สูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากความตั้งใจในการส่งเสริมทักษะการใช้งานดิจิทัลด้วยเครื่องมือต่างๆ รวมถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้ว AIS ยังไม่หยุดที่จะคิดค้นและมองหาวิธีการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์
จึงเป็นที่มาของแคมเปญสื่อสารในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีที่ AIS ร่วมมือกับ ตำรวจไซเบอร์ และ 3 ค่ายละครโซเชียล นำคดีจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจริง อาทิ หลอกติดตั้งแอพดูดเงิน, หลอกลงทุน, ซื้อของจากร้านค้าปลอม, ใช้ภาพโปรไฟล์คนอื่นและสวมรอยเพื่อหลอกยืมเงิน มาถ่ายทอดในรูปแบบของละครคุณธรรม หรือละครสั้นสะท้อนสังคม ที่วันนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนสูงวัย ด้วยวิธีการเล่าแบบตรงไปตรงมา สนุก สอดแทรกสาระและวิธีการรับมือจากพี่ๆ ตำรวจไซเบอร์ ที่มาร่วมเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมทั้ง 12 ตอน 12 สถานการณ์ อีกด้วย
“นอกเหนือจากย้ำเตือนสังคมผ่านการสื่อสารและสร้างการตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์อย่างสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพได้ฟรี รวมถึงการมีหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทย”
ด้านพลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยไซเบอร์ เข้ามาสู่ประชาชนทุกระดับไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นิสิตนักศึกษา กลุ่มคนทำงานแม้กระทั่งกลุ่มคนเกษียณอายุราชการ ที่เก็บเงินมาทั้งชีวิต แต่เงินนั้นอาจจะหายไปในช่วงเวลาพริบตา ทั้งนี้จากสถิติตั้งแต่1 มีนาคม 65 ถึง 10 พฤศจิกายน 66 มีการรับแจ้งความออนไลน์ที่เป็นคดีแล้วกว่า 360,000 คดี ไม่รวมกรณีที่ได้รับความเสียหายเล็ก ๆ น้อยๆ และไม่ได้มาแจ้งความอีกเป็นจำนวนมหาศาล มูลค่าความเสียหายประมาณ 49,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพมีการออกกลโกงในรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอทำให้ประชาชนหลงเชื่อ และถูกหลอกให้เสียทรัพย์ได้ในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไม่ใช่แค่ในมิติเรื่องของการปราบปรามอย่างเดียว เราต้องให้ความสำคัญในเชิงป้องกัน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งานบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย ซึ่งการทำงานกับ AIS อย่างต่อเนื่องในการออกมาเตือนภัยประชาชนในรูปแบบต่างๆ ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุอย่างแท้จริง
เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ AIS อีกครั้งในการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนผ่านรูปแบบของละครคุณธรรม เพื่อให้ประชาชนมีสติ รู้เท่าทัน “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาให้รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือด้านภัยไซเบอร์ได้ที่สายด่วน 1141”
พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การที่จะไปไล่จับ 3 แสนกว่าคดีหรือ 4 แสนกว่าคดี ไม่ทันแน่นอน ตอนนี้แนวโน้มคดีเริ่มลดลง แต่มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีความเสียหายสูงขึ้น จากเดิมจะเป็นหลอกซื้อของไม่ตรงปก ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ตอนนี้เป็นหลอกลงทุน ที่ล่าสุดมี 4 คดีที่หลอกลงทุนเงินคริปโต มูลค่าความเสียหายกว่า 700 ล้านบาท ผู้เสียหายมีทั้งเป็นแพทย์ นักการธนาคารและนักลงทุนที่เก่งมาก ๆ ก็ยังตกเป็นเหยื่อ โดยรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความเสียหายที่สูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน อย่างเช่น การให้ความรู้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ทำให้ประชาชนรู้กลโกง อย่าง AIS ที่สร้างเป็นละครก็จะสามารถสื่อสารได้ง่ายและเข้าใจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนสูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง วิธีการหลอกลวงก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็จะมีการร่วมมือกับ AIS ในการพัฒนาละครคุณธรรม ไปเรื่อยๆ เพื่อให้อาชญากรรมในประเทศลดลงให้ได้
ทั้งนี้สามารถติดตามชมละครคุณธรรม ทั้ง 12 ตอน ซึ่งสอดแทรกการเตือนภัยกลโกงของมิจฉาชีพพร้อมวิธีการรับมือ ได้ผ่านช่องทาง Social Media ของทั้ง 3 ค่ายละครคุณธรรม และช่องทาง LearnDi ได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/learning-path/105/
• กุลิฟิล์ม >> https://m.ais.co.th/TgangStudio
• ทีแก๊งค์ >> https://m.ais.co.th/KuliFilms
• ทีมสร้างฝัน >> https://m.ais.co.th/teamsangfun