ช่วงนี้..เรียกว่าอยู่ในช่วงฤดูกาล ฝุ่น PM2.5 ที่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหามลพิษที่มาเยี่ยมเยือนชาวกรุงเทพมหานคร และอีกหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศ เป็นประจำทุกปี
“อากาศที่สะอาด” กลายเป็นสิ่งที่หายากและต้องลงทุน ไม่ว่าจะต้องเดินทางไปหาแหล่งธรรมชาติที่มีอากาศบริสุทธิ์ หรือต้องหาซื้อเทคโนโลยีมาฟอกอากาศให้ดีขึ้นถึงภายในบ้านหรือที่ทำงาน
เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง “อากาศสะอาด” ที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมฝีมือคนไทย กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เปิดตัว “ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่” หรือ “MagikFresh” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการออกแบบโครงสร้างกึ่งเปิดขนาดย่อมบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ได้มีการติดตั้งทดสอบใช้งานและให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจได้ ณ บริเวณอุทยานสวนจตุจักร ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 7 เดือน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และได้รับการพิจารณาเป็นโครงการสำคัญปี 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้ชื่อโครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยมี ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
โดย สวทช. ได้คิดค้นรูปแบบโครงสร้างที่สามารถควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดโดยฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้หายใจได้เต็มปอดโดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งโครงสร้างได้ถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบเพื่อการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการพยายามแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว โดยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่นรวมถึงการบำบัดอากาศซึ่งเป็นปลายทาง
อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผลงานของ สวทช. ที่ทาง กทม.ได้ใช้อยู่ด้วยแล้วคือ Traffy Fondue ที่จะเป็นการช่วยแจ้งเตือน เฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมถ่ายรูปและส่งทางไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีความยินดีที่จะสนับสนุนและใช้ผลงานวิจัยต่าง ๆ ของ สวทช. แก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ด้านมลพิษของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิตชาวเมือง ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นการป้องกันและเป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหาเพื่อให้ประชาขนมีทางเลือกในการเข้าถึงนวัตกรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ด้าน ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า ตัวนวัตกรรม “MagikFresh” ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ส่วนแรกเป็นส่วนของโครงสร้างที่เรียกว่าMagikFresh Pavilion ซึ่งถูกออกแบบและวิจัยพัฒนามาเพื่อให้เกิดรับลมเข้าจากช่องเปิดทางด้านข้างในรูปแบบที่เสริมกัน และเกิดการไหลเวียนของอากาศในพื้นที่ และมีลักษณะเฉพาะคือ มีช่องเปิดด้านบน ดังนั้นอากาศสะอาดที่ไหลเวียนผ่านเครื่องกรองเข้ามาจะไหลเวียนออกสู่ช่องเปิดด้านบน การไหลเวียนของอากาศในพื้นที่นี้จะมากกว่า 10 รอบต่อชั่วโมงทำให้มีอากาศที่สะอาดและสดชื่นเหมือนการใช้ชีวิตอยู่ภายนอกอาคาร และมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่ต่ำกว่าภายนอก การออกแบบMagikFresh Pavilion สามารถปรับขนาดได้ตามพื้นที่ที่ต้องการ
ส่วนที่สองเป็นส่วนของเครื่องกรองอากาศที่เรียกว่าMagikFresh Air Cleaner ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตย์แบบมีโอโซนต่ำ คือ หลักการของเทคโนโลยีนี้คือการปล่อยประจุให้ไปจับกับ PM2.5 แล้วให้เคลื่อนที่ผ่านไปยังชุดดักจับฝุ่นที่ประกอบด้วยแผ่นเพลทวางขนานกัน ซึ่งแผ่นดักจับฝุ่นนี้ สามารถถอดไปล้าง ช่วยลดขยะและลดต้นทุนในการใช้ไส้กรองอากาศได้
เครื่องกรองอากาศดังกล่าวมีความสามารถในการสร้างอากาศสะอาดรวมทั้งหมด 6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 มาโดยตลอดในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการรับมือที่ต้นตอของปัญหา มีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงการเผาไหม้ โดยการพัฒนาคุณภาพของสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลด้วยกระบวนการ Hydrotreating ทั้งสองเชื้อเพลิงเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ด้านการตรวจวัดและระบบสารสนเทศ มีการวิจัยพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่า PM 2.5 ด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance (QCM) ที่มีความแม่นยำสูง และการใช้ Supercomputer เพื่อคาดการณ์ระดับ PM2.5 ล่วงหน้า
และด้านการป้องกัน มีการวิจัยพัฒนาหน้ากากอนามัย nMask : Non-biological Mask ที่ได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรมาตรฐานสากล (Nelson laboratory USA) ซึ่งสามารถกรองเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน รวมทั้ง PM2.5 และการวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ หรือเรียกว่า IonFresh+ ซึ่งเป็นผลงานของทีมวิจัยเดียวกันกับที่พัฒนาสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่นี้
การพัฒนาเทคโนโลยีการกรองฝุ่น PM2.5 นี้ ยังสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
อยากสูดอากาศบริสุทธิ์..ต้องไปลอง