ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รับถ่ายทอดเทคโนโลยี “ซิงค์ไอออน” จากนาโนเทค สวทช. สู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคจากธรรมชาติ ก่อนขยายสู่สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน ตอบความต้องการใช้งานในวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตั้งเป้าดันแบรนด์ไทยเทียบของนำเข้าในราคาเอื้อมถึง
นายธนากร ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เบนไซออน (Benzion) สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน กล่าวว่า เป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่รับถ่ายทอดมาจากงานวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เนื่องจากบริษัทเองสนใจในกลุ่มแร่ธาตุอาหารเสริมที่สามารถฆ่าเชื้อได้ เพราะในท้องตลาดปัจจุบัน สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในราคาที่สูง หรือหากมีแร่ธาตุสูง ก็มีความเป็นพิษสูงตามไปด้วย หรือหากความเป็นพิษต่ำ ประสิทธิภาพก็ไม่สูงเท่าที่ต้องการ หรืออาจไม่ครอบคลุมเชื้อทั้งหมด จนได้ทราบว่า ทางนาโนเทคมีงานวิจัยทางด้านนี้ จึงเข้ามาพูดคุยปรึกษา จนเกิดเป็นโครงการวิจัยข้างต้น ในปี 2561
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการแผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยนำแร่ธาตุอาหารเสริมอย่างซิงก์ (Zinc) ที่โดยปกติมีสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ แต่ประสิทธิภาพนั้นไม่ดีนัก มาเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเติมสารคีเลตและสารเสริมความคงตัว เช่น พอลิแซคคาร์ไรด์ กรดอะมิโน กรดไขมัน กรดอินทรีย์และสารลดแรงตึงผิว เป็นการเสริมประสิทธิภาพให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และใช้ได้ในปริมาณที่น้อยลง สู่ผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ ทดสอบใช้ในฟาร์มหมูได้ผลดี ที่ยูนิซิล กรุ๊ป รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและต่อยอดเชิงพาณิชย์ เปิดตลาดอุตสาหกรรมปศุสัตว์
สำหรับนวัตกรรมซิงค์ไอออนสามารถแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้ อาทิ เชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรอัฟริกัน (African swine fever virus, ASFV) และโรคพีอีดี (porcine epidemic diarrhea, PED) ที่นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ โดยสามารถนำไปฆ่าและป้องกันเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรอัฟริกันได้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 74,600 ล้านบาทในปี 2562 หากไม่มีการป้องกันเชื้อดังกล่าว จะทำให้สุกรเสียชีวิตมากกว่า 50% และยังสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างมหาศาล
ด้วยจุดแข็งด้านนาโนเทคโนโลยี ทำให้กรรมการผู้จัดการยูนิซิล กรุ๊ป มองว่า ซิงค์ไอออนจากธรรมชาติมีโอกาสทางการตลาดสูง จึงมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มากกว่าแค่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ จึงเริ่มต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ “เบนไซออน (Benzion)” ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออนร่วมกับสารลดแรงตึงผิวที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรืออีพีเอ (U.S. Environmental Protection Agency: EPA) แนะนำว่า เป็นสารที่สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เรามองตลาดนี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 (COVID-19) แต่เมื่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า เป็นโรคระบาดร้ายแรง เนื่องจากการแพร่ระบาดที่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนโดยยอดติดเชื้อทะลุ 1 ล้านคนทั่วโลก ความต้องการผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคจึงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราเร่งมือผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นี้เกิดได้เร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้” นายธนากรกล่าว
เบนไซออน (Benzion) ใช้ไอออนิกเทคโนโลยีและคีเลชันเทคโนโลยี ทำให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสที่อยู่ระดับสูง โดยผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ** พบว่า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ภายใน 1 นาที เทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาที่เข้าถึงได้ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ที่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อระดับกลาง ที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟ
นอกจากนี้ เบนไซออน ผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง จากสถาบัน Aisa Dermscan โดยทดสอบกับอาสาสมัคร รวมถึงทดสอบด้าน Toxicology and Bio Evaluation Service Center (TBES) ศูนย์บริการทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา สวทช. พบว่า มีความปลอดภัยไม่ระคายเคือง ขณะที่แอลกอฮอล์ 70% ก่อให้เกิดการระคายเคือง
“เรามองกลุ่มเป้าหมาย 2 ส่วนคือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความต้องการใช้ฆ่าเชื้อภายในโรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร ลอจิสติกส์ โรงแรม สถานพยาบาล หน่วยงานราชการต่างๆ และภาคประชาชนที่ใช้ในที่พักอาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องการให้สามารถเข้าถึงและใช้งานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ได้อย่างแพร่หลายในราคาที่เอื้อมถึง ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพ อนามัย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50 ล้านบาทภายในปี 2563” กรรมการผู้จัดการยูนิซิล กรุ๊ปย้ำ
ทั้งนี้ ความท้าทายหลักคือ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ใช้องค์ความรู้ สาร หรือเทคโนโลยีใหม่นั้น มีความยากตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาจนถึงการขึ้นทะเบียน การทำตลาด แต่ด้วยความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ผ่านการทดสอบรับรองมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะทำให้สามารถอยู่ได้ในระยะยาว
นายธนากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเบนไซออนเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ ภายใต้การกำกับดูแลสถานที่ผลิตโดยกองเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีสารสกัดจากธรรมชาติที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมเชื้อได้อย่างกว้างขวาง สามารถยับยั้งและทำลายเชื้อ เช่น เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ Escherichia coli ATCC 10536, Salmonella enterica (choleraesuis) ATCC 10708, Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ Pseudomonas aeruginosa PRD 10 ATCC 15442 ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับช่วงเวลานี้ เขามองว่า เป็นช่วงของการสร้างแบรนด์ ที่ต้องแข่งกับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่แข่งกันออกมาในช่วงเวลาวิกฤต แต่ประสิทธิภาพจะเป็นตัวกำหนดว่า แบรนด์ไหนจะอยู่รอด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจะทำให้เราพลิกตลาด และสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้ธุรกิจ
**ผลทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น H1N1, Influenza Virus, Human Immunodeficiency Virus (HIV), Hepatitis B Virus (HBV), Filoviridae (e.g. Ebola, Marburg), Hepatitis C Virus (HCV), Flavivirus, Coronavirus e.g. SARS, MERS และ Covid-19 เป็นต้น บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ส่งไปทดสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้ เช่น Blutest Laboratory จากประเทศอังกฤษ