“พัฒนาข้าวข้ามสายพันธุ์ นวัตกรรมจาก 2 แหล่งปลูก” 1ในความร่วมมือด้านนวัตกรรม “ไทย-สเปน”

Cover Story เวทีวิจัย

               การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย นอกจากจะต้องส่งเสริมให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน.ไปใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถแล้ว การผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง  ๆ โดยเฉพาะกับเครือข่ายระดับนานาชาติ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร อัพเดทเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้สามารถขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยในการนำพานวัตกรรมไทยไปสู่ตลาดโลกอีกด้วย

               หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยแผนงานโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศ  หรือ Global Partnership  เป็นแผนงานที่ต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติของภาคเอกชนของประเทศไทยผ่านกระบวนการความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายที่มีการทำงานร่วมกับต่างประเทศ

                ล่าสุด…บพข.ได้ประกาศความร่วมมือกับ CENTRE FOR THE DEVELOPMENT OF INDUSTRIAL TECHNOLOGY (CDTI) หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา ประเทศสเปน  ในด้านการพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งในระยะแรกจะมุ่งเน้นอาหารฟังก์ชั่น อาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและนวัตกรรมการสร้างมูลค่าของเสียจากเกษตรอาหาร  เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ

                งานนี้…เรียกว่าเป็นความร่วมมือด้านนวัตกรรมครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยและสเปน

               โดยจะเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่าง นักวิจัย และผู้ประกอบการไทย – สเปน  ภายใต้โครงการความร่วมมือทวิภาคี ด้านนวัตกรรมไทย – สเปน  (TLSIP – Thailand & Spain Innovating Program ) ระหว่าง บพข. และ CDTI

               และนำร่องความร่วมมือด้วยสิ่งที่ประเทศไทยถนัด และยังเป็นความต้องการจากทั้ง 2ประเทศ อย่างเช่น  โครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวด้วยนวัตกรรมจาก 2 แหล่งปลูก  เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงได้ดีในทุกสภาพอากาศ  โดย “ ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร” อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) คนแรกของไทย  หัวหน้าโครงการวิจัย “Innovarice Thai” ภายใต้ทุนสนับสนุน บพข.  และโครงการทวิภาคีด้านนวัตกรรมไทย – สเปน    

                รศ.ดร.ธงชัย  สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. เน้นขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์และแข่งขันได้ในตลาดโลก  ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่ บพข.ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งคือความร่วมมือกับต่างประเทศ  อย่างเช่นประเทศสเปน ที่ บพข.  ได้สร้างความร่วมมือไว้ตั้งแต่ตอนที่เดินทางไปดูเยือนเมื่อปีที่ผ่านมา

                และนำมาสู่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมและแผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระยะ 3 ปี (2024 – 2026) ระหว่าง บพข.   และ CDTI โดย นายฮาเวียร์ ปองเซ่ ผู้อำนวยการสำนักงาน CDTI   ภายในงานสัมมนา “Spain-Thailand Innovation and Tech Dialogue Platform 2023”   ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพ ฯ  เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  โดยมีนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด   เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย  ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด

               รศ.ดร.ธงชัย    กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า   เบื้องต้นเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและไบโอเทคโนโลยี โดยเฉพาะในการพัฒนาที่เรียกว่า Innovarice  Project  ซึ่งเป็นการทำวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Indica กับ Japonica   ซึ่งเมื่อพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แล้ว จะทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และมีโภชนาการสูง  เช่น มีน้ำตาลต่ำ ทำให้เกิดความหลากหลายและสามารถสร้างตลาดในวงกว้างมากขึ้น  

               “ การทำงานร่วมกัน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน  ไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด  ซึ่งการทำงานร่วมกันจะช่วยขับเคลื่อนและทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ไปได้เร็วขึ้น  เนื่องจากงานวิจัยบางอย่างต้องอาศัยทุนวิจัยค่อนข้างสูง ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี ปรับปรุงขบวนการผลิต หรือการทดสอบระบบให้ได้มาตรฐาน  การทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรในการวิจัยร่วมกัน  ช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดงบประมาณ รวมถึงกำลังคน และทำให้งานต่าง  ๆ สามารถขับเคลื่อนในเชิงพาณิชย์ออกมาได้อย่างรวดเร็ว”

               ทั้งนี้ในแผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเน้นการจับคู่และขยายผลทางธุรกิจของผู้ประกอบการ นักวิจัยไทย-สเปน โดยใน 2 ปีข้างหน้าจะขยายความร่วมมือไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และ สุขภาพการแพทย์  นอกจากนี้ในแผนงาน Global Partnership  ยังจะมีการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย และเอกชนไทย กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้

                ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร  กล่าวถึงโครงการวิจัยนำร่องความร่วมมือไทย-สเปน ว่า เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวในโครงการวิจัยเป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Indica กับ Japonica  เพื่อให้ได้ข้าวโภชนาการสูง จากข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นเขตร้อน Temperate Japonica ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์พันธุ์ข้าว (Copsemar) ประเทศสเปน ที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรค มีอมิโลสสูง  กับข้าวคู่ผสม Indica สีม่วงพันธุ์แรก เพื่อสร้างพันธุ์ข้าวสีม่วงที่ให้ผลผลิตสูง มีค่า ดัชนีน้ำตาล (GI) ต่ำ และคุณค่าทางโภชนาการสูง จะมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และโรค NCDs ที่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพการปลูกได้ทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศไทย

               “ประเทศไทย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ฯ มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสีมานาน จนมาถึงจุดสูงสุดที่ผลผลิตไม่เพิ่ม สิ่งที่นักวิจัยมองก็คือต้องข้ามไปอีกขั้น คือหาคู่ผสมที่ดี  ซึ่งทางวิชาการทราบกันดีว่าการผสมข้ามสายพันธุ์ที่แตกต่างกันมาก  ๆ  หรือจากแหล่งเพาะปลูกที่ข้ามประเทศ  จะทำให้เกิดความแตกต่าง   โดยข้าวญี่ปุ่นที่เราเรียกว่า Japonica  หากได้ผสมข้ามสายพันธุ์กับ Indica   ก็มีโอกาสที่นักปรับปรุงพันธุ์จะประสบความสำเร็จ ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดี  และตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อย่างเช่น ประเทศสเปน ที่ข้าวสีเริ่มได้รับความนิยมระดับหนึ่ง ตอบโจทย์เรื่องความอร่อยในการนำไปประกอบอาหารพื้นเมือง  แต่ขณะเดียวกันชาวสเปนก็มีปัญหาสุขภาพเรื่องโรคเบาหวานและโรคอ้วนมากกว่าประเทศไทยทั้งบริโภคข้าวน้อยกว่ามาก   จึงต้องหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยต้องการข้าวลูกผสมที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ  ทีมวิจัยสเปนจึงสนใจเรื่องการปรับปรุงพันธุ์เพื่อที่จะทำให้ข้าวมีคุณภาพที่ดีขึ้นและราคาถูกลง”

               ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ  ย้ำว่า นักวิจัยไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างมาก  โดยเฉพาะเรื่องของข้าวสีที่มีความหลากหลายสูง

              การผสมข้ามสายพันธุ์ จากนวัตกรรม 2 แหล่งปลูกในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยไม่ย่ำอยู่กับที่.. แต่จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว  และพร้อมที่ยืนได้อย่างมั่นคงในเวทีโลก.