“ประเสริฐ” โชว์ 9 ผลงานเด่นในรอบ 3 เดือน พร้อมดันดิจิทัลไทย ติดท็อป 30 ของโลกในปี 2569

i & Tech

“ประเสริฐ  จันทรรวงทอง” แถลงโชว์ผลงานเด่นดีอีในรอบ 3 เดือน ทั้งศูนย์  AOC 1441 การปิดกั้นเว็บผิดกฎหมาย แก้ปัญหาซิมม้า-ซื้อขายข้อมูลประชาชน พร้อมดึงการลงทุนและพัฒนากำลังคนด้าน AI และ Cloud ส่งเสริมชุมชนโดรนใจ ผลักดันการแก้ปัญหากำลังคนด้วย Global Digital Talent   สนับสนุนสตาร์ทอัพ และยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลไทย ตั้งเป้าติดท็อป 30 ของโลกในปี 2569

           วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งในกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ จนถึงวันนี้ กระทรวงฯ สามารถประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานอย่างเข้มข้น โดยแบ่งเป็น 9 ผลงานหลัก คือ

            1. ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ซึ่งเป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์ สำหรับประชาชน ให้บริการ 24 ชม. และใช้ติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา  

           2. การปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน ซึ่งดีอี ได้ปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน จัดการเว็บที่ผิดกฎหมาย โดยเน้นทำงานเชิงรุก ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ทำงานร่วมกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใกล้ชิด ทำให้ปิดกั้นเว็บหรือเพจผิดกฎหมาย เพิ่มมากขึ้น  

           3. การแก้ปัญหาการซื้อขายข้อมูลและการหลุดรั่วของข้อมูลประชาชน  ซึ่งดีอี ได้เร่งดำเนินการมาตรการต่าง ๆ  เพื่อแก้ปัญหาการหลุดรั่ว ของข้อมูลประชาชน ตลอดจนการซื้อขายข้อมูลประชาชน  เช่น การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC Eagle Eye เร่งตรวจสอบ ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้งค้นหา เฝ้าระวัง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล    การตรวจสอบช่องโหว่ระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ  การร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  การส่งเสริมการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ   และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ทันสมัยต่อบริบทของสังคมและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไป

            4. การแก้ปัญหาซิมม้า  โดยดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการป้องกันและปราบปราม การใช้ซิมม้า โดยใช้มาตรการเชิงรุก  เช่น การกำหนดให้ผู้ใช้บริการมีการถือครองซิมเกิน 5 ซิม ต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ต้องยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน  ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ที่มากผิดปกติ และส่งข้อมูล AOC 1441 ทำการระงับการใช้งาน   การเร่งระงับเบอร์ และขยายผล สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี จากเบอร์ และชื่อเจ้าของเบอร์ ที่ได้จากการแจ้งความออนไลน์  หรือเบอร์ที่รับแจ้งกับ AOC 1441 หรือเบอร์ที่ผู้ให้บริการสื่อสาร ตรวจพบเอง จากระบบ fraud detection และจาก สนง. กสทช. รวมถึง เบอร์ที่ต้องสงสัยต่าง ๆ

           ทั้งนี้ให้แจ้งข้อมูลการโทรที่ผิดปกติ ต่อ ศูนย์ AOC 1441 และ ระบบ Audit numbering ของ สนง.กสทช เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวมรวมข้อมูล รวมถึงมีการดำเนินการตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์/เสาสัญญาณ และการตั้งสถานีแพร่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบให้ดำเนินการระงับสัญญาณทันที และดำเนินการกำกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการให้บริการนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากตรวจสอบพบก็จะให้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนทิศทางการแพร่สัญญาณ

            5. การดึงการลงทุนและพัฒนากำลังคนด้าน AI และ Cloud   โดย ดีอีได้ดึงการลงทุนและพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud โดยความร่วมมือกับบริษัทระดับโลก และประเมินว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300,000 ล้านบาท ทั้งจากการลงทุนและพัฒนาบุคคลากรในระยะ 5 ปี จากความร่วมมือ 3 บริษัท คือ  Huawei  ซึ่งได้ร่วมมือการตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ผลิตคนด้าน AI และ Cloud ปีละ 10,000 คนหรือ 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ผู้ที่มีทักษะ AI & Cloud จำนวนกว่า 60,000 ล้านบาท    ส่วนความร่วมมือกับ Google   จะสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคธุรกิจไทยกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Google และดีอีจะร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้ Generative AI และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Google Cloud  

           ขณะที่ความร่วมมือกับ  Microsoft   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพบปะหารือกับไมโครซอฟท์ เพื่อร่วมพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัล และการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน  

           6. “ชุมชนโดรนใจ”   หรือ  One Tambon One Digital  (OTOD) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการครบ 500 ชุมชน ในเดือนตุลาคม  2567  มีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร ให้บริการกว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ เกิดการยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน เกิดธุรกิจบริการโดรน 50 ชุมชน และเกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท

           7. Global Digital Talent   ซึ่ง ดีอี โดย ดีป้า ได้ผลักดันให้มีกลไกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศ ผ่านการนำเข้ากำลังคนจากต่างประเทศ ผ่านการตรวจลงตรารูปแบบใหม่ Global Digital Talent Visa (GDT Visa) โดยชาวต่างชาติที่ได้รับ GDT Visa จะได้สิทธิในการพำนัก และสิทธิทำงานพร้อมวีซ่าเป็นระยะเวลา 1 ปี  

             8. การสนับสนุน Startup และ SMEs ด้วยบัญชีบริการดิจิทัล  ซึ่งปัจจุบัน มีสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วทั้งสิ้น 132 รายการ จากผู้ประกอบการดิจิทัลไทย 13 บริษัท นอกจากนี้ยังมีการผลักดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Tax 200%

           และ 9.  การยกระดับ Thailand Digital Competitiveness Ranking  ซึ่ง ดีอี ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ส่งผลให้ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 ดีขึ้น 5 อันดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 35 ในปี 2023 จากเดิมอันดับที่ 40 ใน ปี 2022

            ทั้งนี้กระทรวงดีอีตั้งเป้าหมาย อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569 นี้