หากคำว่า “Soft Power” หมายรวมถึงวิถีชีวิตหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่เราคุ้นชิน และได้รับความนิยม รวมถึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับโลกแล้ว “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมของไทย ก็จัดเป็นหนึ่งใน “Soft Power” สำคัญที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจ และพร้อมขับเคลื่อนบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มุ่งส่งเสริมคุณค่า การสร้างการยอมรับทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในเวทีระดับโลก
และโครงการ “ หมัดสั่ง : ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” ก็คือ ตัวอย่างของงานวิจัยเชิงประยุกต์ในด้านสังคมศาสตร์ ที่จะต่อยอดนำมรดกทางวัฒนธรรมอย่าง “มวยไทย” สู่ความเป็นนานาชาติ
โครงการดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยของศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท บัญชาเมฆ จำกัด และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด โดยมีภาคีในการร่วมเผยแพร่ผลงานสู่ระดับนานาชาติคือ ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานกลุ่ม Global Partnership ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเอกชนไทยในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาดนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power บนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
สำหรับ “มวยไทย” จะก้าวจากมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ความเป็นนานาชาติ ได้อย่างไรนั้น… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดการเสวนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานโครงการ “หมัดสั่ง: ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” ขึ้นที่ “บัวขาว วิลเลจ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่” พร้อมเปิดตัวสารคดี “MUAY THAI : POWER & SPIRIT” ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของโครงการ ฯ
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ การขับเคลื่อนประเทศที่ได้มุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ งานศิลปะ งานฝีมือ การออกแบบ แฟชั่น กีฬา การท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดคุณค่าทางวัฒนธรรมให้ปรากฏเด่นชัด ขณะเดียวกันยังสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ออกไปสู่การขยายผลในรูปแบบต่างๆ ไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
สถาบันเอเชียศึกษาฯ มีพันธกิจหลักในการศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ในเอเชีย รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นศึกษาวิจัยทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ซึ่งโครงการ “หมัดสั่ง: ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” เป็นผลงานของหนึ่งในศูนย์วิจัยฯ ของสถาบันเอเชียศึกษา ฯ คือ ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม ภายใต้การนำของ “ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุนวัตกรรมศึกษา ฯ นับเป็นผลงานวิจัยเชิงประยุกต์ชิ้นสำคัญที่นำเสนอคุณค่า และจิตวิญญาณของมวยไทยได้อย่างลุ่มลึกและสวยงาม
สารคดีเรื่อง “The power and Spirit ” เป็นสารคดีเกี่ยวกับมวยไทยในเชิงประวัติศาสตร์ ภูมิหลังความเป็นมา และรูปแบบแม่ไม้ศิลปะท่าทางของมวยไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตามภาคพื้นที่ต่าง ๆ เช่น มวยลพบุรี มวยโคราช มวยท่าเสา และมวยไชยา โดยมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าของมวยไทยที่มีอานุภาพและจิตวิญญาณของนักสู้ที่ยุคสมัยไม่อาจเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของมวยไทยได้ มวยไทยไม่ใช่เพียงแค่การใช้พละกำลังเข้าต่อสู้ หากแต่ผสานชั้นเชิงไหวพริบและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียว มวยไทยจึงใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเอาชนะคู่ต่อสู้อย่างเด็ดขาด มีชั้นเชิง และงดงามอย่างน่าอัศจรรย์
“ สารคดีดังกล่าวมีจำนวน 5 ตอน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างตรวจพิจารณาให้สมบูรณ์ ซึ่งจะดำเนินการเผยแพร่สู่สายตานานาประเทศอย่างทั่วถึงในเร็วๆ นี้ และที่สำคัญในสารคดีเรื่องนี้ได้รับเกียรติจากคุณบัวขาว ร้อยโทสมบัติ บัญชาเมฆ นักชกมวยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาเป็นผู้นำในการชูเรื่อง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วนในการช่วยขับเคลื่อน”
รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ วิจัย หน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านเพิ่มความสามารถในการแข่งของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน หรือภาครัฐ มีความสามารถในการแข่งขันในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องของอาหาร เกษตร สุขภาพการแพทย์ ดิจิทัล พลังงาน ยานยนต์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ “Soft Power” ที่จะมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เราคุ้นชินในบริบทของสังคมท้องถิ่นให้เป็นรายได้ ทำให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้ได้เห็นและเข้าใจว่า การนำมวยไทยไปสู่ความเป็นนานาชาตินั้นสามารถทำได้อย่างไร
“บพข. ให้ทุนผู้ประกอบการผลักดันร่วมกับนักวิจัยในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัยในเชิงของศิลปวัฒนธรรมที่จะนำมาแปลงเป็นเนื้อหา สื่อสารคดี ภาพยนตร์หรือละคร นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า เป้าหมายของโครงการ ฯ ที่ บพข.ให้การสนับสนุน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงานกลุ่ม Global Partnership คือ มีความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ และร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศของไทย ในการนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเผยแพร่ในเวทีโลก เป็นการสร้างขีดความสามารถ และนำไปสู่การขยายผลผ่านเครือข่ายนานาชาติ หนุนเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจในประเทศตามมา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การสื่อสาร สารคดี ภาคธุรกิจการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่า การขยายผลโครงการนี้ในอนาคตจะเกิดความสำเร็จ เกิดดอกออกผลเติบโตตามลำดับต่อไป”
ด้าน ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า โครงการ “ หมัดสั่ง: ฟื้นประวัติมวยไทยบนสังเวียนโลก” เป็นนวัตกรรมใหม่ของการผลิตผลงานมิติใหม่ทางวัฒนธรรมสู่เวทีนานาชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย ผู้ให้ทุนและภาคเอกชน ในการนำความรู้จากงานวิจัยไปสู่ห้าง โดยร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมใหม่ คือ สร้างชุดความรู้เกี่ยวกับมวยไทยที่จับต้องได้ สัมผัสได้ และไม่ยากเกินไป ที่จะแปรหรือเปลี่ยนเป็นความรู้สู่เวทีสากล
โดยโครงการนี้ทำให้ได้เห็นความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วน มีการนำไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ และมีการต่อยอดทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดหวังว่า สิ่งที่ทำนี้จะเป็นคุณูปการมาสู่บริษัท บัญชาเมฆ ทำให้เป็นที่รู้จัก มีคนมาเรียนมวยที่ค่ายนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่ง “ คุณบัวขาว” มีคุณสมบัติประการหนึ่งคือ เป็น “ Soft Power ที่มีลมหายใจ” ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญยิ่ง และทำให้โครงการมีความสมบูรณ์มากขึ้น
ศ.ดร.สุเนตร ยังเน้นย้ำว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นการบ่มเพาะ สะสมความรู้ ประสบการณ์ และอีกหลายๆ อย่างจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต่างก็มีความชำนาญเฉพาะ และเอาความโดดเด่นของแต่ละฝ่ายมาประกอบกัน อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จได้เลย หากปราศจากทุนสนับสนุน ไม่ว่าจะจากภาครัฐ หรือเอกชน และโครงการนี้ถือเป็นการโชว์เคสครั้งสำคัญ ที่บ่งชี้ว่า “งานเชิงสังคมวัฒนธรรม หรือมนุษยศาสตร์ ก็สามารถผลิตเป็นผลงานที่เกิดดอกออกผลได้อย่างครบวงจร”
“นายชาคริต สิทธิฤทธิ์” ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สารคดีที่ผลิตขึ้นสามารถตอบโจทย์กระทรวงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลที่กระทรวงจะนำเสนอเรื่องแม่ไม้มวยไทยไปยัง UNESCO ซึ่งจะต้องทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมวยไทยกับมวยอื่น ๆ หรือศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ โดยแม่ไม้มวยไทย รวมถึงการไหว้ครู ถือเป็นจุดขาย ที่คนอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะส่วนหนึ่งของมวยไทยก็คือ วิถีชีวิต เรามีการไหว้ครู ครอบครู เป็นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ถูกสอดแทรกเข้ามาภายใต้คำว่า “มวยไทย” ซึ่งมีการสืบทอด ส่งต่อกันมา เวทีเสวนาในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าอนาคตมวยไทยจะไปต่อได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมได้มีกระบวนการส่งเสริม “มวยไทย” อย่างต่อเนื่อง มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2553 ปัจจุบันกำลังเก็บข้อมูลมวย 5 สาย และอยู่ระหว่างการทำฐานข้อมูลมรดกวัฒนธรรมทางปัญญา ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อไม่ให้มรดกวัฒนธรรมทางปัญญาเหล่านี้สูญหายหรือถูกลอกเลียนแบบไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
ขณะที่ ดร.อัครเดช สุพรรณฝ่าย อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า มวยไทยไม่ใช่แค่เรื่องของการชกต่อย ต่อสู้ หรือศิลปะแม่ไม้มวยไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและชุมชน จากที่เจอกับบัวขาวในปี 2556 ในวันที่เขาเดินทางกลับไปอยู่ที่สุรินทร์ ได้มีโอกาสเห็นบัวขาวร่วมกับชาวบ้านในการสร้างเวทีมวยเล็ก ๆ ขึ้นมา กว่าจะมาถึงวันนี้มีอุปสรรคมากมาย ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดผ่านสื่อออกมา และกลายเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลก หลายคนอาจนึกภาพค่ายมวยต่างชาติต้องเป็นโรงยิม เป็นอะคาเดมี่ แต่ที่ชุมชนนี้ เป็นพ่อ เป็นครู เป็นค่ายมวยในหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่คนระดับโลกฝึกซ้อม ตอกย้ำว่า คุณค่าของมวยไทยนั้น ไม่ใช่แค่การต่อสู้ที่ดีที่สุดในโลก แต่มันคือ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมวยไทยที่สำคัญในทุกรูปแบบของชุมชน
“ จากการจัดทีมวิจัยไปคุยกับบัวขาวเมื่อปี 2556 พบว่า คุณบัวขาวมีสิ่งที่ไม่เหมือนกับนักมวยทั่ว ๆ ไป คือ มีพลังพิเศษที่ออกมาจากภายใน ซึ่งทีมวิจัยบอกว่ามันเป็นความมุ่งมั่น ตั้งใจพิเศษ และมีหลักยึดบางอย่าง เราเรียกสิ่งนั้นว่า “สมาธิมวยไทย” ซึ่งในวันนั้นอาจจะยังไม่ชัด แต่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ปัจจุบันชัดเจนมาก ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ และมหาวิทยาลัยฯ ได้เปลี่ยนคุณบัวขาวจากนักมวย K1 ให้มาเป็นนักบรรยาย ถอดองค์ความรู้ สอนทำ Workshop เชิงปฏิบัติการ และได้รับเชิญไปบรรยายทั้งในและต่างประเทศ นี่คือบทบาทใหม่ของนักมวยแชมป์โลก และนอกเหนือจากการบรรยาย คุณบัวขาวได้ไปร่วมแสดงร่ายรำมวยได้อย่างสวยงาม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี และเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งบทบาทของคุณบัวขาวที่ไม่ได้ชกมวย”
ดร.อัครเดช กล่าวอีกว่า จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่มี มรภ.สุรินทร์ ทีมคุณบัวขาว และเครือข่ายชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และโชคดีที่มีทีมจากจุฬาฯ มาเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอด คิดว่าการที่งานของคุณบัวขาว ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญคือ การที่คุณบัวขาวและทีมงานให้ความสำคัญกับงานวิชาการ และเติบโตในสิ่งที่ตนเองรักและศรัทธา โดยสิ่งที่เขาค้นพบคือ “สมาธิมวยไทย” ที่ต้องยึดมั่นในหลักพุทธศาสนา ยึดมั่นในความกตัญญู กตเวทีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสำคัญ คือยึดในหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จทั้งเรื่องของมวยไทยในความเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม มวยไทยที่เสริมด้วยพลังทางวิชาการ ทำให้ก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้
สำหรับ Soft Power ที่มีลมหายใจ “ร้อยโทสมบัติ บัญชาเมฆ” หรือ “บัวขาว” สุดยอดนักชกไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นผู้บริหารบริษัท บัญชาเมฆ จำกัด บอกถึงสิ่งสำคัญของการเป็นนักมวยว่า ต้องมีวินัย และรู้หน้าที่ของตนเอง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องอาศัยการบ่มเพาะ การชกมวยไม่ได้มีแค่เรื่องแพ้หรือชนะ แต่ยังก่อให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่ามีพลัง และเกิดเรื่องราวที่หลากหลายในตนเอง และวันนี้เมื่อได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของมวยไทย ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมานั้นถูกทางและมีพลังในการลงทุนลงแรงกับสิ่งที่สร้างมา ซึ่งอยากให้ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสและสนใจมวยไทยมากขึ้น
ส่วนว่าที่ ร้อยโท ธีรวัฒน์ ยิ้วยิ้ม ผู้จัดการและเทรนเนอร์ “บัวขาว” และผู้บริหารบริษัท บัญชาเมฆ จำกัด เล่าว่า ตนเองได้นำเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยบัวขาวในวัย 28 ปี ซึ่งใกล้จะเลิกชกมวย ซึ่งบัวขาวสามารถ Challenge ตัวเองเข้ามารับรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และเริ่มใช้ความรู้ ปรับเปลี่ยนความเชื่อ จนทุกวันนี้อายุเกือบ 42 ปีเต็ม ซึ่งปกตินักมวยจะเลิกชกแล้วในวัย 30 ปี
“ ความนิยมระดับโลกในตัวบัวขาว ได้จุดประกายให้เห็นความเป็น Soft Power ทำให้คิดว่าองค์ความรู้ที่บัวขาวมี จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอด ส่งต่อ เพื่อพัฒนาทั้งนักมวย และครูมวย จึงเกิดความคิดที่จะสร้างโรงเรียน สร้างหลักสูตร หรือนำประสบการณ์ของบัวขาวออกมาถ่ายทอดให้มากที่สุด และเมื่อรวมกับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการต่อยอดเป็นงานวิชาการ รวมถึงงานภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงด้านต่างๆ ของประเทศได้”
ฝากไว้ …จาก “ชาคริต สิทธิฤทธิ์” ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ฯ
“ ปัจจุบันมวยไทยสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย หากมองเรื่องการสืบทอดจากรุ่นไปสู่อีกรุ่น อยากให้มวยไทยเข้าไปถึงภาคการศึกษา ซึ่งต้องเปลี่ยนค่านิยมจากการที่ผู้หญิงเรียนมวยแล้วเจ็บตัว มาเป็นการออกกำลังกาย สามารถใช้ในการป้องกันตัว และยังช่วยในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า เศรษฐกิจจะนำไปสู่การสร้างกระแส และทำให้เกิดการรับรู้ เรียนรู้มวยไทย นำไปสู่การสร้างคุณค่า สร้างความถนัด และสุดท้ายจะนำไปสู่ “Soft Power” ที่แข็งแรงของเมืองไทย นั่นก็คือ มวยไทย ”