ทรู ดิจิทัล รุกบริการไซเบอร์ซิเคียวริตี้ครบวงจร ตอบโจทย์ทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เน้นเข้าถึงง่าย คุ้มค่าและปลอดภัยสูง ชูจุดแข็งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และ ML ตรวจจับความผิดปกติและตอบสนองการโจมตีได้อัตโนมัติแบบเรียลไทม์
นางฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การทรานสฟอร์มและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในปี 2566 ที่ผ่านมา สถิติภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของประเทศไทยมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึงเท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการโจมตี รองมาคือ หน่วยงานราชการ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการโจมตี เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจ SMEs ยังไม่เพียงพอ รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ปัจจุบัน SMEs มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยคุกคามไซเบอร์สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 3 เท่า
นางฐิติรัตน์ กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ หนึ่งในธุรกิจของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “Empowering Digital Equity” มุ่งสร้างความเท่าเทียมให้คนไทยและภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีได้ง่าย เหมาะสมและคุ้มค่า ตอบโจทย์ตรงความต้องการและได้ประโยชน์มากขึ้น บนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่มีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง เพื่อรองรับการทรานสฟอร์มธุรกิจ ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีระบบปฏิบัติการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการเก็บข้อมูลสำคัญในระบบดิจิทัล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น อาจมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีระบบหรือโจรกรรมข้อมูล อีกทั้งผู้โจมตียังมีความสามารถในการคิดค้นและใช้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
องค์กรธุรกิจจึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยให้ความสำคัญใน 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และสร้างความตื่นตัวต่อภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรทุกระดับ 2.การปรับเปลี่ยนระบบความปลอดภัยในกระบวนการและระบบต่างๆ ขององค์กร และ 3.การลงทุนในเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคาม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อธุรกิจ ทั้งความเสียหายด้านการเงิน สูญเสียโอกาสทางการตลาดจากธุรกิจที่สะดุดหรือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ รวมถึงความน่าเชื่อถือขององค์กร
ทั้งนี้ ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เดินหน้าพัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดแข็งคือการขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยี ML และ AI ที่เพิ่มขีดความสามารถในการคาดการณ์การโจมตีระบบบนโลกไซเบอร์ ทั้งการตรวจจับความผิดปกติ วิเคราะห์ แจ้งปัญหาได้แบบเรียลไทม์ และเชื่อมโยงกับระบบอัตโนมัติ ทำให้ตอบสนองต่อการโจมตี ตัดกระบวนการโจมตีได้อย่างทันท่วงที มีการการันตีมาตรฐานสากลในการให้บริการแบบ Secure Digital Transformation and Operation อาทิ ระบบความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO 27001 มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองชั้นนำระดับโลก อาทิ CISSP, CISM, GIAC, OSCP เป็นต้น ช่วยดูแลความปลอดภัยให้ธุรกิจต่อเนื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรชั้นนำ ในการพัฒนาบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนร่วมกันผลักดันการสร้างความตระหนัก และเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ
“ ปัจจุบันทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เป็นผู้นำตลาดในระดับ TOP 5 มีลูกค้ามากกว่า 100 รายใน 10 ประเทศ โดยเป็นลูกค้าในประเทศไทยประมาณ 80 % ต่างประเทศ 20 % ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 50 % หรือมีลูกค้าประมาณ 150 ราย และเพิ่มสัดส่วนลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีเป็น 20 % จากเดิมที่มีประมาณ 5 % รวมถึงตั้งเป้าลูกค้าเอสเอ็มอี 1,000 รายในปี 2568 อย่างไรก็ดี ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ถือเป็น โลคอล ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แบบครบวงจร ตอบโจทย์ทุกขนาดธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในทุกอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบได้อย่างทันท่วงที”
ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ มีบริการครอบคลุมทั้ง 1. ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือ Security Operations Center (SOC) ที่ใช้เทคโนโลยี AI และ ML ช่วยจัดการภัยคุกคามแบบอัตโนมัติ 2. Managed Security Services บริการ Outsource เพื่อการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ช่วยให้องค์กรทุกขนาดมีระบบความปลอดภัยไซเบอร์ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและการลงทุนในระบบความปลอดภัย 3.Governance Risk and Consulting บริการให้คำแนะนำปรึกษาด้านการประเมินความเสี่ยง บริหารระบบความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO 27001 4.Offensive Cybersecurity บริการทดสอบเจาะระบบ และค้นหาช่องโหว่ ในการเข้าถึงระบบต่างๆ รวมถึงจำลองเหตุการณ์การโจมตีในระบบเพื่อค้นหาจุดอ่อนในการเข้าถึงระบบ และ 5. PDPA and Data Protection บริการให้คำปรึกษาในการปกป้องข้อมูลรั่วไหล และปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล