สกสว. หนุน ม.ราชภัฏเลยใช้งบ ววน. สร้างเมืองแห่งสุนทรียภาพ โชว์ 4 ผลงานไฮไลต์จากการนำนวัตกรรมอัปเกรดต้นทุนวัฒนธรรมเมืองเลยพร้อมใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่น” สร้างศก. – ดึงความสนใจด้านท่องเที่ยว
กรุงเทพฯ 12 กุมภาพันธ์ 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เปิดแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นจังหวัดเลย เมืองแห่งสุนทรียภาพและพื้นที่ทางการท่องเที่ยวทางศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน พร้อมโชว์การดำเนินงาน 4 โครงการไฮไลต์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้แก่ โครงการวิจัยบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ นวัตกรรมการขับเคลื่อนอาหารท้องถิ่นบนฐานรากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กระบวนการพัฒนานวัตกรรมสารสกัดจากมะม่วงที่ไม่ผ่านการคัดเกรดส่งออกและ การขับเคลื่อนพลังงานทางปัญญาและการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมของบุคลากรในจังหวัดเลย
รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ รักษาการผู้นวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ (O-Inclusiveness) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แลประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็นที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง และงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 190 หน่วยงาน โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่มีการใช้ประโยน์จากงบประมาณดังกล่าว
ทั้งนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพในการนำเสนอแนวคิด งานเชิงกลยุทธ์และการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยอิงตามแผนด้าน ววน. ปี 2566-25 ที่มุ่งตอบโจทย์ทั้งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืนได้อีทางหนึ่ง
ด้าน ผศ.ดร.สุพรรณี พฤกษา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า การวิจัยได้ถูกกำหนดให้เป็นกลยุทธ์สร้างความโดดเด่นด้านวิชาการและบุคลากรของมหาวิทยาลัย พร้อมเป็นเครื่องมือในการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของท้องถิ่น – พื้นที่เป้าหมาย โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาเมือง โดยดำเนินงานใน 4 โครงการคือ
- โครงการวิจัยบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองหมู่ 12 อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แหล่งรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาของไทยดำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า ประวัติ วัฒนธรรมชาวไทดำ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชาวไทดำเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ร่วมสืบสานอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และนำงานวิจัยมาต่อยอดเป็นสิ่งที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ กระแสการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม
- นวัตกรรมการขับเคลื่อนอาหารท้องถิ่นบนฐานรากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้วยการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่วิจัย5 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารและการกระจายรายได้สู่ชุมชน
- การพัฒนานวัตกรรมสารสกัดจากมะม่วงที่ไม่ผ่านการคัดเกรดส่งออกของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีตลาดการปลูก และจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่ย่างไรก็ตาม ยังมีผลผลิตบางส่วนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การส่งออก จึงได้สนับสนุนการวิจัยและนำสารสกัดมาพัฒนาเป็นเซรั่ม หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงผิว ไว้เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสด้านการแข่งขันที่มากขึ้น
- การขับเคลื่อนพลังงานทางปัญญาและการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมของบุคลากรในจังหวัดเลย : เมืองเลย เมืองแห่งสุนทรียภาพและพื้นที่ทางการท่องเที่ยวทางศิลปกรรม ด้วยการสนับสนุนคนที่มีความสามารถ ในด้านต่าง ๆ นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ การนำความคิดมาต่อยอดเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ทั้งในด้าน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา อาหาร ซึ่งถือเป็นการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ระดับท้องถิ่นมาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสู่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล