“ศุภมาส” ประกาศนโยบาย “อว. For EV” หลังนายกฯแต่งตั้งเป็น “บอร์ดอีวี”

News Update

“ศุภมาส” ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ผุดนโยบายเร่งด่วน “อว. For EV” หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง รมว.อว. เป็น “บอร์ดอีวี” เผยแผน “ พัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ”  มั่นใจนำไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  พร้อมนำร่องหน่วยงานใน อว. เปลี่ยนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 30 %  ใน 5 ปี

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2567 ที่อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย “ อว. For EV”  โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ตามที่ รมว.อว. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เนื่องจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดอีวี เล็งเห็นว่ากระทรวง อว. เป็นกระทรวงสำคัญที่จะมาร่วมขับเคลื่อนโยบายในการผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30 % ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาเร่งด่วนเรื่องการขาดแคลนบุคลากรสำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวี ซึ่งการสร้างและพัฒนาบุคลากรดังกล่าวเป็นบทบาทหลักของกระทรวง อว.  และเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวงเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์ไอซีอีมาเป็นอีวี รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อสร้างนวัตกรรมอีวีผ่านการให้ทุนวิจัยจากกองทุนภายใต้กระทรวง อว.

 วันนี้ อว.พร้อมเดินหน้าทำงานทันที โดยการประกาศนโยบาย “อว. For EV” เพื่อผลักดันแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้กระทรวง อว. จำนวน  3 แผนงาน คือ

1.  EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน มอบหมายให้ สภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวง อว.ได้เริ่มดำเนินการในการพัฒนากำลังคนไปบ้างแล้วเช่น การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม  การให้สิทธิพิเศษหรือส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในอุตสาหกรรมอีวี และการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้รองรับอุตสาหกรรมอีวีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ

2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัด อว. เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย   30 % ของยานยนต์ที่ใช้งานของหน่วยงานภายในระยะเวลา 5 ปี และจัดทำระบบต้นแบบการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Green campus โดยมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นของกระทรวง อว.

3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็น Flagships ที่สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. และเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย

สำหรับการจัดสรรงบประมาณ ววน.ในสาขายานยนต์ไฟฟ้าผ่านหน่วยบริหารจัดการทุน(PMU)ในปี งบประมาณ 2566 มีการจัดสรรงบประมาณรวม 535.5 ล้านบาท โดยเป็นของบพข. 445.5 ล้านบาท NIA 90 ล้านบาท ส่วนในปี งบประมาณ 2567 มีการจัดสรรงบประมาณรวม710 ล้านบาท โดยเป็นของบพข. 610 ล้านบาท NIA 100 ล้านบาท ประมาณการงบประมาณ 5 ปีอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท

ส่วนกลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า  มีทั้ง 1.โครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าเช่น การพัฒนาสถานีชาร์จแบตเตอรี่ การพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เก็บประจุได้มากขึ้นและชาร์จได้ไวขึ้น  2.แพลตฟอร์มและบริการสนับสนุน เช่นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับจองคิวชาร์จแบตเตอรี่ การค้นหาสถานีชาร์ทที่ใกล้ที่สุดหรือการพัฒนา battery swapping ที่สะดวกในการใช้งาน 3. การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ และยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ เนื่องจากประเทศไทยแข่งขันยากในอุตสาหกรรมอีวีแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล  จึงควรเน้นพวกรถบัส  มินิบัส หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต

“อว. For EV ถือเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV ยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ และเรามั่นใจว่าแผนงานทั้ง 3 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษ  30 % ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลต้องการได้อย่างแน่นอน” นางสาวศุภมาส กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ รอง ผอ.สวทช. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผน EV-Transformation ที่ สวทช.รับผิดชอบว่าสวทช.พยายามจะทำกลไกให้หน่วยงานของกระทรวง อว.ที่มีมากกว่า 200 หน่วยงาน มีบุคลากรมากกว่า2 แสนคน มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า 45,000 คันและรถมอเตอร์ไซต์มากกว่า 5 แสนคัน   ปรับเปลี่ยนมาใช้รถอีวี อย่างน้อย 30 % ตามนโยบายของภาครัฐ   ซึ่งในเบื้องต้นนอกจากจะสำรวจปริมาณการใช้งานแล้ว ยังต้องกระตุ้นให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนไปใช้รถอีวี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าใช้จ่าย  และสนับสนุนให้เกิด Green Campus ที่ลดมลพิษ ลดฝุ่นให้กับเยาวชน นอกจากนี้ สวทช.จะเป็นตัวกลางในการเจรจาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงทำสัญญาเช่ากับกรมบัญชีกลาง เพื่อลดข้อจำกัดสำหรับหน่วยงานที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้รถอีวีแต่ยังไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 เดือนแรกอาจมีการเชิญชวนให้หน่วยงานใน อว.นำเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านจากรถปกติเป็นรถอีวี เพื่อคัดเลือกหน่วยงานที่เข้าข่ายจะได้รับการขับเคลื่อน ซึ่งอาจสนับสนุนในรูปแบบรางวัลหรืองบประมาณในการดำเนินการ และภายในกลางปีนี้ จะเห็นการพัฒนาแดชบอร์ด  ที่แสดงถึงแผนและผลของการปรับเปลี่ยนยานพาหนะของแต่ละหน่วยงานในกระทรวง อว. มาเป็นรถอีวี บนเว็บไซต์ของกระทรวงอว. ก่อนที่จะพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นต่อไป