“ สระบุรี ” จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ด้วยกว่า 80 % ของการผลิตปูนซีเมนต์อยู่ในจังหวัดนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหามลพิษโดยเฉพาะฝุ่น ควัน PM2.5 รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน หรือที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าโลกเดือด ทำให้ “สระบุรี” มักจะตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ
แต่วันนี้ … “สระบุรี” จากเมืองที่มีมลพิษสูง กลายมาเป็น “เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย” ในโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และถูกนำไปจัดแสดงใน “ COP 28 หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566”
ล่าสุด … สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมนวัตกรรมที่ใช้ในโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกของจังหวัดสระบุรีที่มีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้เป็นจังหวัดนำร่องบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อแก้ปัญหาโลกเดือด ที่ทั่วโลกและประเทศไทยเองกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ทำไม…กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) โดย สอวช. ถึงเลือกที่จะขับเคลื่อน “สระบุรี” ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำ “การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)” เข้าไปสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. บอกถึงที่มาของ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP 26ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 สอวช. ได้ขับเคลื่อนโดยนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นนวัตกรรม และเชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ร่วมกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
“ความท้าทายในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและการขับเคลื่อนองคาพยพในรายสาขาต่างๆ (Sector) ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน หากสามารถเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ จ.สระบุรี จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จนั้น ใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วน ความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่และผู้นำของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากระดับนานาชาติที่มากพอให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสของการได้รับการสนับสนุน จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ”
ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า TCMA ในฐานะสมาคมที่เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี จึงเป็นสาขา (Sector) สำคัญที่จะมีบทบาทต่อการสนับสนุนการดำเนินการของโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แนวทางปฏิบัติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินอุตสาหกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตาม “แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593” (2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap)
ความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ TCMA มุ่งส่งเสริมสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย เข้ามาร่วมกันดำเนินการ ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการใช้กลไกการสนับสนุนจากระดับนานาชาติ เชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมืองของจังหวัดสระบุรี ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
ทั้งนี้การดำเนินงาน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ครอบคลุม 5 ด้านหลัก คือ 1.การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้นซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งาน 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง
3. การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลด Waste ในการก่อสร้าง 4.การวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 9 – 12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ /ปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และ 5. การวิจัยและพัฒนา Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากยังมีสัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จากกระบวนการต่างๆ ในสัดส่วนที่ค่อยข้างสูง อย่างไรก็ดีโครงการ CCUS ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และเงินทุนทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาและวิจัย
นวัตกรรมปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน
สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050 สอวช.พาไปดูความก้าวหน้ากันที่ “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์” ที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ซึ่งมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน เพิ่มความปลอดภัยรวมทั้งลดขยะหรือของเสียในการก่อสร้าง
อย่างเช่น โครงการวิจัยพัฒนา 3D Printing Technology ที่เป็นการนำ CPAC 3D Printing Solution มาใช้ร่วมกับกระบวนการก่อสร้างแบบ PPVC กลายเป็นอาคารสำเร็จรูป รูปแบบใหม่ที่ล้ำสมัย โดย PPVC เป็นการนำหลักการ DFMA (Design for Manufacturing and Assembly) เน้นการออกแบบและการวางแผนการผลิตชิ้นงานที่โรงงาน สามารถประกอบ ติดตั้งสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญสวยงาม โดยมีจุดเด่นที่การออกแบบให้มีรูปทรงอิสระ ตามที่ลูกค้าต้องการ จากเดิมงานก่อสร้างประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นกล่อง นอกจากนี้ ยังก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วและเป็นการก่อสร้างสีเขียว(Green Construction) ลดมลภาวะ ทางฝุ่นและเสียง รวมทั้งเศษวัสดุหน้างานก่อสร้างจะลดน้อยลง ซึ่งตัวอาคารที่จัดแสดงนี้ เป็นการยกโมดูลมาประกอบเพียง 4 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ โดยการก่อสร้างกว่า 90 % ทำเสร็จมาจากโรงงาน ใช้เวลารวมทั้งหมดนับตั้งแต่การทำฐานราก จนถึงตกแต่งขั้นสุดท้าย เสร็จได้ภายใน 60 วัน ลดเวลาในการก่อสร้าง 51 % เมื่อเทียบกับการก่ออิฐฉาบปูน และเร็วกว่า 25 % เมื่อเทียบกับระบบคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดวัสดุเหลือทิ้งและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการก่อสร้างถึง 3.7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต และการก่อสร้าง เช่น โครงการวิจัยพัฒนาคอนกรีตคาร์บอนต่ำ โดยการใช้ Low Carbon Cement การปรับส่วนผสมคอนกรีต การใช้วัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ การใช้วัสดุทดแทนมวลรวมธรรมชาติให้ได้มากขึ้น รวมไปจนถึงการใช้น้ำยาผสมคอนกรีตต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของคอนกรีตทำให้สามารถลดการใช้ปูนซีเมนต์ลง
และโครงการวิจัยพัฒนาปูนซิเมนต์สำหรับงานโครงสร้าง หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนลดโลกร้อน ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยวัสดุชนิดอื่นๆ ที่จะมาใช้ทดแทนปูนเม็ด (Clinker) รวมทั้งศึกษากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ยังไม่แตกต่างไปจากเดิม ในปัจจุบันสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตันซีเมนต์ เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และในอนาคตยังมีเป้าหมาย ที่จะพัฒนานวัตกรรมผลิตปูนลดโลกร้อนชนิดใหม่ ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากขึ้น
“ตาลเดี่ยวโมเดล” จากการกำจัดขยะมาเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน
ตาลเดี่ยวโมเดล เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” โดยเป็นความร่วมมือของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงอว. กับหน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริการส่วนตำบลตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี
การลงพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว ในครั้งนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ได้มอบหมายให้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. เป็นประธานต้อนรับ “นายบัญชา เชาวรินทร์ ” ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมคณะและสื่อมวลชนที่เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน “ตาลเดี่ยวโมเดล” ที่มีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติจริงในพื้นที่สระบุรี และเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
“ดร.เรวดี อนุวัฒนา” ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. กล่าวถึง “ตาลเดี่ยวโมเดล” ว่า มีจุดเริ่มต้นของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยเกิดจากการรวมตัวกันของนักวิจัย วว.จากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ และศูนย์นวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาโจทย์วิจัยเรื่องการจัดการขยะชุมชน ซึ่งในขณะนั้นได้มีการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564)
ปี พ.ศ.2559 ทีมวิจัย วว.พบว่า “สระบุรี” เป็น 1 ใน 6 จังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องการก่อมลพิษจากขยะ โดยเฉพาะเรื่อง กลิ่น ที่แม้จะมีการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้เป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะขยะในประเทศไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นเกลือ และความเค็มทำให้เกิดปัญหาในการดูแลโครงสร้างต่าง ๆ
วว.จึงเลือก “สระบุรี” เป็นจังหวัดนำร่องในการนำเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน ที่ทีมนักวิจัย วว.พัฒนาขึ้นมาใช้งานในพื้นที่จริง ซึ่งในปี พ.ศ.2560 มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. กับหน่วยงานในพื้นที่ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า “ตาลเดี่ยวโมเดล” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
สำหรับ ต.ตาลเดี่ยว มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 16,000 ไร่ มีปริมาณขยะประมาณ 10-20 ตันต่อวัน วว.ใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ในการจัดทำศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนฯ ซึ่ง วว. มีรูปแบบการบริหารจัดการขยะโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ 2 แนวทาง คือการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth) โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาดรวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เทคโนโลยีหลักที่ใช้มี 3 ส่วน คือ 1. ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะและระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก 2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง และ 3.นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
“การขับเคลื่อนโครงการดำเนินงานใน 2 มิติ คือ การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนด้วยหลักการ 3Rs ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ รองรับการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ ในการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลาสติกรีไซเคิล สารปรับปรุงดิน น้ำหมักชีวภาพ เชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuels: RDF) และพลังงานชีวภาพสะอาด ร่วมกับการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจร” ดร.เรวดีกล่าว
ปัจจุบัน วว. และพันธมิตร ได้มีการขยายขอบข่ายพื้นที่บริหารจัดการขยะชุมชนและรูปแบบดำเนินการสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย เพื่อแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ โดยตั้งเป้านำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร นำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่กรุงเทพฯ และขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
หนุนเกษตรกร “ หญ้าเนเปียร์” พืชพลังงานทดแทนถ่านหิน
ปัจจุบันกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต้องใช้ในการนำเข้าถ่านหิน คำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปลดปล่อยประมาณ 9-12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็นสมาชิกของ TCMA ได้มีการนำเทคโนโลยีในการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ มาใช้ทดแทนการใช้ถ่านหิน เช่น Refuse Derived Fuels (RDF) รวมถึงชีวมวล เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 และสนับสนุนให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูก “หญ้าเนเปียร์” เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City)
โดยจังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ TCMA โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สอวช. ได้มีการดำเนินการนำร่องทดลองปลูก “หญ้าเนเปียร์” ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในตำบลเขาเกตุ อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาวิจัยการส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงานนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รวมถึงสร้างกลไกการมีส่วนรวมของภาคประชาชนระดับพื้นที่ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน
สำหรับหญ้าเนเปียร์ มีลักษณะคล้ายต้นอ้อย ลำต้นใหญ่ โตเร็ว ปลูกได้ในพื้นที่ราบ สามารถปลูกได้นาน 7 -10 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3-4 รอบต่อปี ทนทาน การดูแลไม่ยุ่งยาก และใช้น้ำน้อย เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชไร่อื่นๆ ได้ โดยในช่วงระยะเวลา 3 – 4 เดือน สามารถทำเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าสูงได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีอายุการปลูกมากขึ้นเกินกว่า 10 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวเป็นชีวมวล ที่มีค่าความร้อนสูง ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ และ Biocoal รวมถึงสามารถนำมาผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ในโครงการนำร่องดังกล่าว เป็นการปลูกในพื้นที่ที่ห่างจากโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ที่จะรับซื้อไม่เกิน 50 กิโลเมตร เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
อย่างไรก็ดี การใช้หญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นแนวทางที่มีศักยภาพสูง แต่ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องการปลูก การนำมาใช้งาน และการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงเครื่องจักรให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ให้มากขึ้นได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังคงต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านแหล่งทุน (Green Funding) ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนโยบายส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Smart and Sustainable Industry) และสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้เร็วขึ้น และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่เป็นตัวอย่างของการทำงานข้ามสาขา ทั้งเกษตร พลังงานและอุตสาหกรรม ข้ามภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชนและชุมชน ซึ่งนำบทบาทของแต่ละภาคส่วนมาเติมเต็ม เพื่อเป้าหมายเดียวกัน.