กรุงเทพฯ 19 กุมภาพันธ์ 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ผนึกกำลังร่วมสร้างขีดความสามารถ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างไทย – สหราชอาณาจักร เพื่อเป้าหมายนำพาทั้งสองประเทศไปสู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านกองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ International Science Partnerships Fund หรือ ISPF สนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับประเทศไทยผ่าน Delivery partners ของสหราชอาณาจักร และประเทศไทย โดย Department for Science, Research and Technology (DSIT) สหราชอาณาจักร จัดสรรงบประมาณ 319 ล้านปอนด์ ตั้งแต่ปี 2022 – 2025 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยอังกฤษได้ทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรทั่วโลก ภายใต้ 4 ประเด็นมุ่งเน้นหลักของสหราชอาณาจักร ได้แก่ ความเสี่ยงของโลก (Resilient Planet) การทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี (Transformative Technologies) สุขภาพมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของพรรณพืช – สัตว์ (Healthy People, Animals and Plants) และการสร้างบุคลากรแห่งอนาคต (Tomorrow’s Talent) เพื่อมุ่งพัฒนาและสามารถส่งมอบองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายเเพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์อันยาวนานและความร่วมมือที่แข็งแกร่งในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษ ผลงานล่าสุด คือ ความร่วมมือภายใต้กองทุน Newton Fund ระหว่างปี 2557 – 2562 ด้วยการลงทุนในสหราชอาณาจักรจำนวน 46 ล้านปอนด์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย Newton Fund ไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับนักวิจัยและบุคลากรด้านนวัตกรรมในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพื่อยกระดับทักษะและเสริมทักษะความรู้ การศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเข้าถึงเงินทุนเพื่อพัฒนาระดับนานาชาติอีกด้วย
สำหรับโครงการ ISPF ซึ่งได้รวม Newton Fund, Global Research Challenge Fund (GCRF) และ Fund for International Collaboration (FIC) เข้าด้วยกัน ถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมอบให้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย โดยในปัจจุบันจะมีหน่วยบริหารและจัดการทุนทั้ง 9 แห่ง (Program Management Unit: PMU) ซึ่งเป็น delivery partners ของฝั่งไทย ซึ่ง PMU ทั้ง 9 แห่งนี้มีการทำงานที่สอดคล้องกับโปรแกรมภายใต้ทุน ISPF ที่จะเป็นพันธมิตรในการส่งมอบผลงานวิจัยของไทยอีกด้วย
“ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นประตูสู่อาเซียน แต่ไทยยังมีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพ เราหวังว่าไทยจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งด้านพลังงานยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม วัสดุศาสตร์ และการเกษตร” ประธาน กสว. กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานหลักในการยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นกรอบแนวทางในการนำองค์กรไปสู่องค์กรสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน ววน. และจัดการงบประมาณของกองทุน ววน. ให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้วยการจัดทำแผนด้าน ววน. ปี 2566- 2570 เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กับคนไทย ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าและสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และความพร้อมในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมที่ล้ำหน้า เพื่อโอกาสและความพร้อมในอนาคต และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการก้าวกระโดด
“เรามั่นใจว่าการทำงานร่วมกันภายใต้กองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (ISPF) ในครั้งนี้ จะนำความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมการเสริมสร้างขีดความสามารถ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองประเทศ สิ่งเหล่านี้จะนำพาทั้งสองประเทศไปสู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองต่อประเด็นฉุกเฉินทั่วโลกได้อย่างแน่นอน” ผอ.สกสว. กล่าวเสริม
มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรและไทยมีประวัติความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนจะมีทุน Newton Fund นักวิจัยชาวไทยจำนวนมากเคยศึกษาที่สหราชอาณาจักรและกลับมามีความร่วมมือกับองค์กรและนักวิจัยของสหราชอาณาจักร ในการพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ต่อประเด็นด้านการพัฒนาระดับประเทศและระดับชาติ หวังว่าทุน ISPF จะเป็นหมุดหมายสำคัญด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยต่อไป
สำหรับประเทศไทยมีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน ทั้งความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างนักวิจัย มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือภายใต้ Newton Fund ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการวิจัยกว่า 1,700 คน ความร่วมมือด้านการวิจัยในโครงการขนาดใหญ่กว่า 115 โครงการ ในด้านสุขภาพ การเกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจาก Newton Fund แล้ว ประเทศไทยยังมีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรภายใต้ Global Challenges Research Fund (GCRF) ซึ่งเป็นทุนที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนาอีกด้วย
ทั้งนี้ ความสำเร็จจากความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยและสหราชอาณาจักรในอดีต และการเปิดตัว ISPF ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนกระตุ้นในการเตรียมความพร้อมให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมสมัครทุนดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งสองประเทศ โดย Department for Science, Research and Technology (DSIT) สหราชอาณาจักร ได้จัดสรรงบประมาณ 319 ล้านปอนด์ ตั้งแต่ปี 2022 – 2025 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยอังกฤษได้ทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรทั่วโลก ภายใต้ 4 ประเด็นมุ่งเน้นหลักของสหราชอาณาจักร ได้แก่ ความเสี่ยงของโลก (Resilient Planet) การทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี (Transformative Technologies) สุขภาพมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของพรรณพืช – สัตว์ (Healthy People, Animals and Plants) และ การสร้างบุคลากรแห่งอนาคต (Tomorrow’s Talent)
โดยไทยมีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรภายใต้ ISPF แล้ว 6 โปรแกรม ได้แก่ 1. International Interdisciplinary Research Projects 2. International Writing Workshops 3. Leaders in Innovation Fellowships (LIF) 4. Transforming Systems Through Partnerships (TSP) 5. MRC SEA One Health and Pandemic Preparedness และ 6. STFC UK-ASEAN Research Infrastructure Partnership
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมที่คาดว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มเติมอีก ได้แก่ 1. International Fellowship Programme 2. Networking award + Parallel activity for alumni 3. Global Health Policy Workshop 4. International career development programme 5. BBSRC/NERC – Sustainable Aquaculture 6. Global Challenges Research 7. Translational Research Partnership 8. Future Research and Policy Change 9. Early Academic Fellowship scheme for Women in Research and Innovation และ 10. Research Partnership