บพข.หนุน R&D ยกระดับ“อาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง” ตอบโจทย์เทรนด์ “เลี้ยงสัตว์เหมือนลูก” ของคนเมือง

Cover Story

               ด้วยเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกของคนเมืองในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง  ยังเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง รวมถึงธุรกิจ “อาหารสัตว์เลี้ยง” ที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อันดับ 3 ของโลกในปี 2564  โดยมีมูลค่าส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

                 ธุรกิจดังกล่าว แม้จะส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเอกชนไทยที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เพียงไม่กี่ราย ทำให้ประเทศไทยยังมีบทบาทเพียงการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย    

               เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้ธุรกิจในประเทศไทย  โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่สนใจในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)   โดยแผนงานอาหารมูลค่าสูง   จึงได้สนับสนุนให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปยกระดับการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

               “รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต”  รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  หัวหน้าสำนักประสานแผนงานอาหารมูลค่าสูง  บพข. เปิดเผยว่า ในอดีต กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีบทบาทเป็นจ้างผลิตหรือ OEM  ซึ่งไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานวิจัยน้อยมาก แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้สนใจในงานวิจัยด้านอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น   ซึ่งแม้ว่าในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ของไทยที่มีไม่กี่ราย จะมีการความสามารถในการทำวิจัยได้เอง  แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ยังเข้าถึงการทำวิจัยได้ค่อนข้างน้อย  ดังนั้น บพข.จึงต้องการนำงานวิจัยและพัฒนาเข้าไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของธุรกิจในประเทศ  สามารถสร้างองค์ความรู้ สร้างเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

              “ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว และมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาการให้ทุนวิจัยด้านอาหารสัตว์เลี้ยงก็มีน้อยมาก จึงต้องสร้างระบบอีโค่ซิสเต็มส์ให้กับอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการฯ ได้มีการรวมตัวกันเป็น Consortium โดยทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการสำรวจปัญหาและความต้องการของภาคเอกชน ซึ่งมีตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดจำหน่าย และได้การนำเสนอต่อ บพข. ตั้งแต่ปี 2564 และได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในแผนงานอาหารมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งในช่วงปี 2565 และ 2566 มีการสนับสนุนงบประมาณไปแล้วกว่า 33 ล้านบาท”

               ทั้งนี้แผนงานอาหารมูลค่าสูง กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ของ บพข. ครอบคลุมทั้งเรื่องอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูงตามมาตรฐาน AAFCO  ส่วนประกอบฟังก์ชั่นในอาหารสัตว์เลี้ยง การทดสอบความปลอดภัยของส่วนประกอบฟังก์ชั่นเพื่อใช้ในอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์เลี้ยงฟังก์ชั่น ผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมจากผลพลอยได้และสมุนไพร  อาหารสัตว์เลี้ยงเฉพาะโรค อาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยง การทดสอบความปลอดภัยอาหารสัตว์เลี้ยงตามมาตรฐานนานาชาติ  เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ยกระดับความสามารถการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาโรงงานต้นแบบ GMP  และการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนหรือขอรับรองผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงด้วยโภชนาการและฟังก์ชั่น

               อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทางแผนงานอาหารมูลค่าสูงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องการพัฒนาโรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐาน  และการทดสอบต่างๆ ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนหรือขอรับรองผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทดสอบด้านความปลอดภัยและความน่ากินของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทย

            รศ.ดร.ณัฐดนัย   กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันใน Consortium กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง มีผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 40 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ บพข.จะนำงานวิจัย ฯ  ไปช่วย   ทั้งนี้งานวิจัยด้านอาหารสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสัตวแพทย์และเทคโนโลยีอาหาร  เพราะเมื่อเป็นนวัตกรรม  มีเทรนด์เรื่องสุขภาพและส่วนผสมในอาหารใหม่ ๆ  ทำให้ต้องมีการวิจัยเชิงลึกมากขึ้น   ไม่ใช่แค่อร่อยหรือทดสอบเรื่องอายุการเก็บ  แต่ต้องวิจัยในสัตว์ต่อเนื่องถึงผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง  จึงต้องอาศัยศาสตร์ของสัตวแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

            …สำหรับผลงานการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข.  ที่น่าสนใจและบางส่วนมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายแล้ว  อย่างเช่น  

ขนมขบเคี้ยวสุนัขจากหนอนแมลงวันลาย

               ขนมขบเคี้ยวสุนัขโปรตีนสูงจากหนอนแมลงวันลาย  เป็นผลผลิตจากโครงการ “ การพัฒนาอาหารเปียกที่มีโภชนาการครบถ้วนและขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขโดยใช้หนอนแมลงวันลาย (Hermetia illucens) เป็นแหล่งโปรตีนหลักเพื่อสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว”  ซึ่งมี  “รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที”   จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เป็นหัวหน้าโครงการ และมี “บริษัทออร์ก้าฟีด” เป็นบริษัทร่วมทุน

               โครงการนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงและแปรรูปหนอนแมลงวันลายให้เป็นแหล่งโปรตีนหลักในอาหารและขนมขบเคี้ยวในสุนัข   ถือว่าเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ   BCG  เนื่องจาก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งแมลงและของเสียอินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการใช้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมไปเป็นแหล่งอาหารของหนอนแมลงวันลาย แล้วนำหนอนแมลงวันลายมาเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสุนัขที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรที่ยั่งยืน และสุดท้ายการผลิตแมลงเป็นเศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากแมลงมีประสิทธิภาพการสร้างโปรตีนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าแหล่งอื่น

               ปัจจุบันโครงการ ฯ สามารถผลิตขนมขบเคี้ยวสุนัขโปรตีนสูงจากหนอนแมลงวันลายในรูปแบบของคุ้กกี้ ที่ผ่านการยอมรับและทดสอบการผลิตในโรงงานต้นแบบ มีโภชนาการพร้อมขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์  โดยบริษัทออร์ก้าฟีด  จะดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

อาหารสุนัขเสริม CBD จากกัญชง

             เนื่องจากกัญชงเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศของไทย โดยสารสกัดจากกัญชงมีศักยภาพส่งเสริมสุขภาพของคนและสัตว์ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย “รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ ตันสกุล” จึงเกิดแนวคิดการใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมกัญชงสู่การเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงให้เป็นนวัตกรรมอาหารเชิงหน้าที่ใหม่ (Novel functional food) และสอดคล้องกับการวิจัย BCG Economy  โดยพัฒนาเป็นโครงการ “ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโภชนาการครบถ้วนสำหรับสุนัขจากกัญชง” เพื่อตอบโจทย์ เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความห่วงใยในสุขภาพของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น  และมีผู้ร่วมทุนคือ “บริษัทบลูฟาโล จำกัด” ซึ่งมีความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีไปต่อยอดในระดับนานาชาติ เนื่องจากต่างประเทศนิยมใช้สาร CBDในอุตสาหกรรมสัตว์ ทั้งกินและใช้ภายนอกตามการสนับสนุนของ AAFCO ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่กำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา

              สำหรับสารสกัดจากกัญชงมีศักยภาพส่งเสริมสุขภาพ  ซึ่งอุดมด้วยสารแคนนาบินอยด์  มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ต้านการอักเสบ การเสริมสร้างสุขภาพ-ภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง ลดปวดและอาการชักเกร็ง เป็นต้น  แต่ข้อมูลฤทธิ์ทางชีวภาพของสารแคนนาบินอยด์ในสัตว์ยังมีไม่มาก ปี 2564 มีรายงานการใช้ CBD ผสมอาหารว่าง (CBD-treat) ให้สุนัขกินพบว่าลดการเกาจากอาการคันได้ โดยไม่มีผลต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตปกติ  และมีรายงานจากกากน้ำมันกัญชง (Hemp seed cake) เป็นแหล่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวในอาหารสุนัข  

             บริษัทร่วมทุน ฯได้สนับสนุนคณะผู้วิจัยเรื่องการใช้ CBD ผสมในอาหารว่างสุนัข ซึ่งผลิตต้นแบบแล้ว แต่ยังไม่ได้ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญและความปลอดภัย  โครงการนี้จึงบูรณาการผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งสัตวแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมเคมี เทคนิคการแพทย์และนักเคมีวิเคราะห์  เพื่อพัฒนาอาหารโภชนาการครบถ้วนสำหรับสุนัขในรูปแบบเม็ดแห้ง(ผสมสาร CBD และผสมกากน้ำมันกัญชง) ในระดับโรงงานต้นแบบ  และทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพทางคลินิกและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ปัจจุบันสามารถผลิตต้นแบบอาหารสำหรับสุนัขสูงวัยสูตรย่อยง่าย และอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิต

               งานวิจัยนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมกัญชงสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง และยังนำมาซึ่งข้อมูลจำเป็นในระดับนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้

อาหารเม็ดสุนัขโปรตีนสูงจากเจลาติน

          สำหรับ “การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเม็ดสุนัขที่มีเจลาตินเป็นส่วนประกอบสู่เชิงพาณิชย์”  ของ “รศ.ดร.อนุสรณ์ สืบสาย”  และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    เป็นอีกหนึ่งโครงการที่นอกจากจะมุ่งพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูงแล้วยังตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยช่วยเพิ่มมูลค่าของเจลาติน ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้จากการผลิตแคปซูลยา ช่วยลดปริมาณของเสียที่ยังมีคุณภาพสูงที่ปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดรายจ่ายด้านการกำจัดของเสีย โดยคณะวิจัยได้นำมาเป็นองค์ประกอบของอาหารเม็ดสุนัขโปรตีนสูงเกรดพรีเมียมสำหรับสุนัขโตเต็มวัย

           โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย เรื่อง “การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพสำหรับสุนัขที่มีส่วนผสมจากเจลาติน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของเจลาติน พัฒนาสูตรอาหารเม็ดสุนัข ขนมสุนัข และผงโรยอาหารสุนัข วิเคราะห์สารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้ทำการทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์ทางประสาทสัมผัสของสุนัขและผู้เลี้ยงสุนัข ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง  

            คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดการผลิตระดับอุตสาหกรรม    โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาการผลิต Functional Ingredient โปรตีนสูงจากเจลาตินผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมยา และผลิตอาหารสุนัขพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์  โดยเจลาตินเป็นแหล่งโปรตีนบริสุทธิ์ สามารถใช้ทดแทนแหล่งโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ ได้ดี   มีสมบัติย่อยง่าย ดูดซึมเข้าสู่ร่างการได้ง่าย ช่วยบำรุงขนและข้อต่อของกระดูก 

            การใช้เจลาตินที่เป็นสิ่งเหลือใช้จากอุตสาหกรรมยา นอกจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขโปรตีนสูงเกรดพรีเมียมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบโปรตีนในอาหารเม็ด ซึ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดโครงการ บริษัท ฟิชเชอรี่ ไซเอ็นซ์ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายต่อไป

อาหารสุนัขสูงวัยสูตรย่อยง่ายจากเนื้อจระเข้และแกะ

            ด้วยอัตราส่วนของสุนัขสูงวัยเพิ่มขึ้นตามลำดับจากจำนวนสุนัขทั้งหมด แม้จะไม่มีรายงานการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับจำนวนหรือสัดส่วนสุนัขสูงวัยในประเทศไทย แต่มีรายงานพบว่าการเลี้ยงสุนัขของประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย 1-2 %  ต่อปี  อีกทั้งประกอบกับเจ้าของสุนัขมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนและโภชนาการที่ดีขึ้น ความก้าวหน้าของวิทยาการทางการรักษาทางสัตวแพทย์ที่ดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อนุมานได้ว่าจะมีสุนัขสูงวัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2% ในทุกๆ ปีเช่นกัน

          อย่างไรก็ดีสุนัขสูงวัย ย่อมมีการดำเนินการไปของโรคและการเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ควรจะได้รับอาหารที่มีคุณลักษณะจำเพาะสำหรับสุนัขในกลุ่มดังกล่าว  เช่น ควรมีพลังงานสูงเนื่องจากสัตว์แก่จะมีปริมาณการกินลดต่ำลงแต่ต้องให้กินในปริมาณที่เหมาะสม โปรตีนต้องเพียงพอเพื่อป้องกันการสลายกล้ามเนื้อเป็นพลังงานรวมทั้งต้องเป็นโปรตีนย่อยง่าย   ไขมันควรมีระดับและอัตราส่วนของโอโมก้า 3 และ 6 ที่เหมาะสม และควรมีการเพิ่มสังกะสีเพราะเกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีและอายุยืนยาวมากขึ้น

           คณะวิจัยนำโดย “ น.สพ.ดร.ณัฐพงศ์  อัคริมาจิรโชติ ”  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพัฒนาโครงการ “ การพัฒนาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนสำหรับสุนัขสูงวัย พร้อมกับทดสอบการยอมรับ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน”  

            โครงการนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนในรูปแบบเม็ดแห้งด้วยกระบวนการเอ๊กซ์ทรูชัน   มีการออกสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสุนัขสูงวัยโดยใช้เนื้อแกะและจระเข้เป็นแหล่งโปรตีนหลัก  ปัจจุบันได้ผลผลิตเป็นอาหารสำหรับสุนัขสูงวัยสูตรย่อยง่าย และมีโปรตีนสูง ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและการยอมรับจากสัตว์เลี้ยง   ซึ่ง บริษัทพอดี้อินโนเวชั่น จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนและทดลองจำหน่ายเชิงพาณิชย์ คาดการณ์ยอดขายต่อปี 100 ล้านบาท และตั้งเป้าขึ้นเป็นแบรนด์อาหารสุนัขอันดับ 1 ในไทยภายใน 1-3 ปี

             นี่ก็คือตัวอย่างการสนับสนุนของ บพข. ที่เชื่อมโยงงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม กับความต้องการใช้งานจริงของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง โดยยกระดับ เพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมตอบโจทย์คนเมืองที่รักสัตว์  สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก.