“ศุภมาส” มั่นใจไทยพร้อมเป็น “ศูนย์กลางฟิวเจอร์ฟู้ดของภูมิภาค” พร้อมร่วมยินดีเอกชนสัญชาติไทยนำ วทน. ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เวทีโลก
กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2567 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมเปิดตัวนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์วูล์ฟเฟีย ซึ่งจัดโดย บริษัทแอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีอาหารสัญชาติไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเผยถึงศักยภาพความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยในฐานะ “ครัวของโลก” และการก้าวเป็น “ศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคตของภูมิภาค” ในอนาคต
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มุ่งส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) โดยได้จัดทำแผนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 และกำหนดให้การยกระดับการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้ไทยคุณค่าสูง และอาหารแห่งอนาคตด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประเทศ รวมทั้งได้วางแผนจัดสรรเงินทุนผ่านหน่วยงานบริหารจัดการทุน หรือ PMU ที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้กรอบแนวคิดการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จาก ‘หิ้ง’ สู่ ‘ห้าง’
“จากนิยาม“อาหารแห่งอนาคต (future food)” ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) อาหารฟังก์ชั่นและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น 2) อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 3) อาหารออร์แกนิค และ 4) โปรตีนทางเลือก โดยประเทศไทยส่งออกอาหารแห่งอนาคตปีละกว่า 130,000 ล้านบาท คาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ดังนั้น หากมีตัวเร่งอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริม อาจจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งกลุ่มที่ได้รับความสนใจและมีศักยภาพสูง ได้แก่ อาหารฟังก์ชั่นและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น และโปรตีนทางเลือก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 110,000 ล้านบาท และ 22,000 ล้านบาท ตามลำดับ” นางสาวศุภมาส กล่าว
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนา “ผำ” หรือ “ไข่น้ำ” หรือ “ไข่ผำ” ซึ่งเป็นพืชมีดอกตระกูลแหนที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และมีความเป็น super food และ future food อยู่ในตัว เพราะนอกจากจะมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 25 – 40 ของน้ำหนักแห้ง (เทียบเท่าถั่วเหลือง) แล้ว ยังอุดมด้วยวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 ซึ่งไม่พบในพืชอื่นโดยทั่วไป และเกลือแร่ เช่น ธาตุเหล็ก และแคลเซียม นอกจากนี้ ยังไม่มีกลิ่นและรสจึงสามารถนำไปผสมเข้ากับอาหารได้หลากหลายชนิด เป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับอาหารจานโปรดของทุกคนได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ ผำยังเป็นพืชโตเร็ว จึงเหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดย NIA ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งการบ่มเพาะและให้องค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมร่วมกับเครือข่ายจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนชั้นนำผ่าน โครงการ SPACE-F Global FoodTech Incubator and Accelerator” รวมถึงสนับสนุนเงินทุนในโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อพัฒนาต้นแบบ “ระบบล้างทำความสะอาดผักผำแบบต่อเนื่องกึ่งอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร” เครื่องแรกของโลก ซึ่งช่วยให้กระบวนการล้างทำความสะอาดผำมีประสิทธิภาพสูง มีความสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผำไทยในเวทีโลกต่อไป