ทีมวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ชูผลงานแก้อาการผมร่วงจากสารสกัดแสมทะเล คาดจะออกสู่ตลาดภายในปีนี้!
ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล จากภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาผลงานวิจัย“ผลิตภัณฑ์แก้อาการผมร่วงชนิดแอนโดรจินิค-อโลเพเชียจากสารสกัดแสมทะเล” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมากจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เปิดเผยว่า งานวิจัยดังกล่าวมาจากวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอกคณะเภสัชศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการหลุดร่วงของเส้นผม แล้วทีมวิจัยศึกษาต่อยอดด้วยการตรวจสอบว่ามีสารสกัดหรือสารบริสุทธิ์ที่เป็นธรรมชาติชนิดใดบ้างที่มีฤทธิ์ในการรักษาอาการผมร่วง
“เราคัดกรองสารสกัดสมุนไพรจำนวนกว่า 50 ชนิด และสารบริสุทธิ์จำนวนกว่า 20 ชนิด จนพบว่า สารสกัดจากแสมทะเลมีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สาร avicequinone C ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็มไซม์ที่สร้างฮอร์โมนที่ทำให้ผมร่วง นอกจากนี้ สารสกัดจากแสมทะเลยังช่วยในการสร้างโปรตีนที่เสริมการงอกของเส้นผมได้อีกด้วย จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาอาการผมร่วงได้แบบครบวงจร”
ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย กล่าวว่า ทีมวิจัยได้มีกระบวนการทดสอบกับอาสาสมัครทั้งชายและหญิงแล้วกว่า 50 ชีวิต โดยถ่ายรูปศีรษะของอาสาสมัครทุกมุม รวมทั้งใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องบริเวณที่ผมหลุดร่วงเพื่อดูลักษณะการหลุดร่วงของเส้นผม และนัดหมายอีก 1 เดือน ถ่ายรูปในตำแหน่งเดิมเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง โดยทำอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน พบว่า เพียงแค่เดือนแรกที่ใช้สารสกัดแสมทะเล บริเวณศีรษะที่ล้านเริ่มมีผมดำแซมขึ้นจนปิดรอยที่เกิดจากการหลุดร่วง จำนวนผมที่หลุดร่วงเวลาสระผมลดลง เส้นผมแข็งแรง ยึดติดกับหนังศีรษะได้ดีขึ้น ที่สำคัญ ไม่ปรากฏว่าผู้ใช้สารสกัดแสมทะเลมีอาการแพ้แต่อย่างใด
ศ.ดร.วันชัย กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอางหลายชนิดที่อ้างสรรพคุณการรักษาอาการผมร่วง โดยมากประกอบด้วยยาที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอาการแพ้และผิวหนังอักเสบจนกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิผลทางวิทยาศาสตร์หรือผ่านการวิจัยเพื่อหากลไกในการทำงานของสารที่นำมาใช้แต่อย่างใด
“ที่ผ่านมา เรานำเข้ายาสังเคราะห์จากต่างประเทศ ทั้งชนิดยาทาและยารับประทานซึ่งใชัได้ผลเพียง 30% และ 48% ตามลำดับ ซ้ำยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ดังนั้นสารสกัดจากแสมทะเล ไม้ยืนต้นที่พบได้ในป่าชายเลนของไทยจะช่วยลดการนำเข้ายาสังเคราะห์เหล่านั้น และยังอาจเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าทางการตลาดให้ประเทศอีกด้วย” ศ.ดร.วันชัย กล่าว
อย่างไรก็ดีปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ผ่านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว โดยจะทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนมากอีกครั้ง ก่อนจะจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์และขอขึ้นทะเบียน อย. ต่อไป ซึ่งคาดว่าอีกไม่เกิน 6 เดือน ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดแสมทะเลจะเริ่มออกวางจำหน่ายในท้องตลาด และนอกจากงานวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาผมร่วง ศีรษะล้านแล้ว ทีมกำลังวิจัยเพื่อแก้ปัญหาผมหงอก ผมขาวด้วยสมุนไพรหรือสารสกัดที่สามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ทำให้ผมดำได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย