เอไอเอสจับมือกระทรวง พม.ขยายผล“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สู่ประชาชนทุกช่วงวัย

Cover Story

เอไอเอสจับมือกระทรวง พม.ขยายผล “อุ่นใจไซเบอร์” สู่บุคลากร พม.กว่า 11,000 คน พร้อมส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แบบเร่งรัด เรียนได้ใน 1 ชม. สู่ประชาชนทุกช่วงวัย นำร่องกลุ่มผู้สูงวัยในโรงเรียนผู้สูงอายุ หวังเพิ่มทักษะพลเมืองดิจิทัล ให้รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์  หลังพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นเป้าหมายสำคัญของมิจฉาชีพ และมีวงเงินความเสียหายวงเงินถึง 25,000 ล้านบาทในแต่ละปี  

            ด้วยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ยังเป็นปัญหาภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่าย จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน  ล่าสุด..เอไอเอส และภาคีเครือข่ายทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน โดยลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) เพื่อส่งต่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปยังบุคลากรของ พม. และประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ อันจะนำมาสู่การยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์

               นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) กล่าวว่า   กระทรวงพม. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้จะเป็นการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มาให้บุคลากรของกระทรวง พม. ที่มีกว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล และนำไปขยายผลสู่ประชาชนคนในทุกช่วงวัย อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี รวมถึงอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยกว่า 350,000 คน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์

                “จากการที่มิจฉาชีพในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น  การมีโครงการเช่นนี้ จะช่วยสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางดิจิทัลที่ดี กับพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ คนพิการ หรือแม้แต่คนทำงานทั่วๆ ไป  ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มีเทคนิคใหม่ ๆ ในการหลอกลวง  อุ่นใจไซเบอร์ จะเป็นโครงการที่สร้างเกราะป้องกันให้กับพี่น้องประชาชนต่อกรกับทางมิจฉาชีพทั้งหลายทั้งออนไลน์หรือในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์  ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสงครามในภูมิภาคต่างๆในโลก ทำให้เศรษฐกิจก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้  จึงเกิดมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาในประเทศไทย โดยเฉพาะการหลอกลวงในกลุ่มผู้สูงอายุ  ซึ่งมีวงเงินความเสียหายถึง 25,000 ล้านบาทในแต่ละปี”

               ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า  เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เอไอเอสเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน  ทำให้ที่ผ่านมาเอไอเอสได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล ที่เรียกว่า “อุ่นใจไซเบอร์” ขึ้นตั้งแต่ปี 2562   และร่วมกับกรมสุขภาพจิตและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)  ออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงจากมาตรฐานของการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลทั่วโลก 

               ปัจจุบันเนื้อหาแกนหลักสำคัญของหลักสูตรดังกล่าว ถูกแบ่งออกเป็น  “4P 4ป” ซึ่งประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม  Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์  Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม  หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  

               “ การลงนามในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญของเอไอเอสกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่างกระทรวง พม. ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์”

                ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส   กล่าวว่า   “เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ให้บริการด้านดิจิทัล  แต่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ  จึงเชิญกรมสุขภาพจิตและมจธ.มาร่วมกับเราในการพัฒนาตัวหลักสูตร โดยที่เราใช้กรอบเฟรมเวิร์คที่เป็นสากล  ซึ่งเรื่องเนื้อหาแกนหลักของหลักสูตร หรือ 4P 4ป มีที่มาจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่คิดอยู่บนกรอบวิชาการจริง  ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล  มีการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรและผ่านการทดสอบในหลากหลายสาขา จนกระทั่งเข้าสู่การขอการรับรองจากทางภาควิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการขยายผล เพื่อให้เข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก โดยนำหลักสูตรดังกล่าวขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม  “LearnDi”  ซึ่งเอื้ออำนวยให้คนทุกคนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงได้แบบทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชม.  และเข้าจากเครือข่ายไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเอไอเอส”

               นางสายชล กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์การขยายผลหลักสูตรดังกล่าว ไปสู่ผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากนั้น เอไอเอสและภาคีเครือข่าย มุ่งเน้นการทำงานกับคลัสเตอร์ต่าง  ๆ  เช่น การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีโรงเรียนในสังกัด 2 หมื่นกว่าโรงทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับกลุ่มโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่มี  437 โรงเรียน  ปัจจุบันมีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 320,000 คน

               “ความร่วมมือกับกระทรวง พม.จะเป็นอีกหนึ่งมิติในการขยายกลุ่มเป้าหมายจากไปสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายตอนแรก ก็คือ กรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำเรื่องดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่พบว่ากลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะถูกมิจฉาชีพหลอกลวง แต่เมื่อมาทำงานกับกระทรวง พม. แล้ว ต้องขอบคุณ กระทรวง ฯ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงวัย  แต่ยังขยายไปถึงกรมกองต่าง ๆ ครอบคลุมทุกช่วงวัย  ”

               และด้วยหลักสูตรในเชิงวิชาการ ที่มีถึง 31 โมดูล  นักเรียนใช้เวลาเรียนประมาณ  6-8 ชม. แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยหรือกลุ่มประชาชนอื่น ๆ ค่อนข้างยากที่จะประสบผลสำเร็จ โครงการอุ่นใจไซเบอร์ จึงมีการพัฒนาเป็นหลักสูตรเร่งรัด มีเพียง 4 โมดูล  ที่ยังครอบคลุมกรอบเฟรมเวิร์คและเป้าหมาย 4 P4ป  และได้รับการยอมรับทางวิชาการว่าสามารถใช้ได้  โดยใช้เวลาเรียนเพียง 1 ชม.  ทั้งนี้จะมีการสร้างเทรนเนอร์หรือครูแม่ไก่ จากบุคลากรของกระทรวง พม. ประมาณ 11,500 คน ซึ่งจะไปขยายผลสู่ประชาชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. ต่อไป

               ขณะที่นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ  กระทรวง พม. กล่าวว่า “ ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด เกิดรูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ ขึ้นมา มีสื่อออนไลน์มากขึ้นและมีมิจฉาชีพมากขึ้นด้วย  ซึ่งพบว่ากลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถตื่นรู้ในสื่อได้ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีประมาณ 13 ล้านคนทั่วประเทศ  ดังนั้น พม.จึงจับมือกับภาคีเครือข่ายที่มีองค์ความรู้ และมีช่องทางในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้จำนวนมาก  โดยทำงานร่วมกับโครงการอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นโครงการที่เอไอเอสเคยทำมาก่อน แต่เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง พอมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยเนื้อหาที่มากเกินไป จึงคุยกับทีมพัฒนาทั้งกรมสุขภาพจิตและ มจธ. ในการทำหลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้เร็วที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ก็เลยเกิดเป็นหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่เรียนได้ใน 1 ชม.  ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่ทำให้ผู้สูงอายุที่เข้าไปเรียน เหมือนกับ ตื่นรู้  รู้ว่าตอนนี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากรู้แล้วก็ต้องรู้ว่าจะป้องกันอย่างไร  และต้องสื่อสารอย่างไรให้ปลอดภัยมีวิธีการที่ปฏิเสธ การเข้าถึงสิ่งต่างๆ  ซึ่งล่าสุดมีการทดลองใช้งานที่ จ.อุดรธานี  ผู้สูงอายุให้ความสนใจมาก ”  

               สำหรับการดำเนินการต่อไป หลังจากมีการอบรมบุคลากรของกระทรวง พม.   กรมกิจการผู้สูงอายุจะนำไปขยายผลกับกิจกรรมของผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีอยู่  2,500 แห่ง รวมถึงศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุที่มีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ