2 พฤษภาคม 2562 คือวันที่สำนักงานราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลทำให้ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สวทน. เปลี่ยนเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สอวช. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน และจัดตั้งเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)”
ภายใต้บทบาทใหม่ของ สอวช. ที่ถูกกำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด และมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภานโยบายเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่สำเร็จแล้วไปสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
เกือบ 5 ปีเต็มกับการขับเคลื่อน สอวช . ภายใต้การนำของ “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสอวช. คนแรก และอดีตเลขาธิการ สวทน. คนสุดท้าย ลองมาดู…เส้นทางการเปลี่ยนผ่านกับภารกิจที่ท้าทาย อะไรคือเป้าหมายสำคัญ !!
ปฏิรูป อววน. จุดกำเนิดของ สอวช.
“ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการ สอวช. เล่าว่า “หากย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อนจะพบว่าในขณะนั้นประเทศไทยแทบจะไม่มีการนำเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาเป็นนโยบายประเทศ แม้จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ฯ แต่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลักนั้นยังไม่ค่อยมี กลุ่มผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในขณะนั้น จึงตั้งฝ่ายวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขึ้นมา และเป็นที่ทำงานแห่งแรกของผม”
ต่อมาในปี 2552 ได้มีการยกฝ่ายวิจัยฯ ดังกล่าว จัดตั้งเป็น “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)” เพื่อทำเรื่องนโยบายโดยเฉพาะ ซึ่งเป้าหมายแรกก็คือ การเพิ่มงบลงทุนวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ของประเทศ ที่มีเพียง 0 .25 % ต่อ GDP ของประเทศให้ขยับสูงขึ้น และก้าวไปสู่เป้าหมาย 2 % ต่อ GDP ในปี 2570
และหลังจากปี 2552 เป็นต้นมา งบ R&D ของประเทศก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิน 1 % ต่อ GDP ในปี 2560 การลงทุนส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน 70-80 % แต่ภาครัฐยังไม่ค่อยตระหนัก แม้ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายจะเห็นความสำคัญ แต่ยังไม่ตระหนักถึงขั้นยอมลงทุน เพราะอาจมองไม่เห็นประโยชน์ซึ่งเป็นผลในระยะยาว
“สมัยนั้นการลงทุนในงานวิจัย 5 ล้านบาทก็ถือว่าสูงสุดแล้ว แต่มันไม่สามารถที่จะทำให้งานดีฟเทคหรืองานวิจัยเชิงลึกออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ โครงการ Spearhead จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการลงทุนด้วยงบประมาณก้อนใหญ่ แต่ก็ยังขาดความต่อเนื่องและมีข้อจำกัดในบริหาร ซึ่งต่อมามีการปรับระบบการให้ทุน และนำมาสู่การเปลี่ยน “ระบบการให้ทุน” เกิดการตั้งกระทรวงใหม่ เรียกว่า ปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงและปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม( อววน.)”
5 ปีกับ 5 หมุดหมายสำคัญ
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เมื่อมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. และเป็นจุดกำเนิดของ สอวช. เมื่อปี 2562 ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญใน 5 เรื่องหลัก คือ 1. การสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ด้านวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ของประเทศให้ถึง 2 % ต่อ GDP ใน ปี 2570 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยและมาตรการในระดับโลก และ 5. การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
มั่นใจ! งบ & D ถึง 2% ในปี 2570
สำหรับการดำเนินการทั้ง 5 เป้าหมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในเป้าหมายแรกการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาถึง 2 % ต่อ GDP ใน ปี 2570 มีผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) อยู่ที่ 1.21 % ต่อ GDP โดยมีสัดส่วนมาจากภาคเอกชน 74 % ขณะที่ภาครัฐและอื่นๆ อยู่ที่ 26 % ลดลงจากปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.33 % ต่อ GDP แต่เชื่อว่าจะถึงเป้าหมาย 2 % ต่อ GDP ในปี 2570 ได้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่นิดหน่อย หากรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยใส่สิ่งใหม่ ๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจไทย เช่น เรื่องเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า(EV) รวมถึงอาหารฟังก์ชั่น ( Functional Food) ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนและผลักดันอย่างมากจากรัฐบาลเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้
เพิ่มขีดความสามารถฯ ด้วย IDE 1,000X1,000
ส่วนเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับประเทศไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง สอวช. มีการขับเคลื่อนการสร้าง “ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE)” ที่เน้นการพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรม สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 สามารถเพิ่มจํานวน IDE ในระบบเศรษฐกิจให้ได้ 1,000ราย และแต่ละรายสามารถขยายธุรกิจให้เกิดรายได้เฉลี่ย1,000 ล้านบาท ปัจจุบันจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามี IDE ที่ลงทะเบียนในศูนย์บ่มเพาะต่าง ๆ ประมาณ 80 ราย ซึ่ง สอวช. ได้มีการขับเคลื่อนสนับสนุนโดยส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย มีการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวง อว. ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง โดยขณะนี้ในภาคมหาวิทยาลัยที่เริ่มดำเนินการแล้ว ประมาณ 8 มหาวิทยาลัย มีจํานวน Holding เกือบ 20 บริษัท นอกจากนี้ สอวช.ยังมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถขยายการผลิตและส่งสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
“ปัจจุบันเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ยังถูกคาดหวังแค่ตัวเลขการจัดลำดับที่ดีขึ้นในมุมของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของ International Institute for Management Development หรือ IMD ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก อย่างเช่น การลงทุน จํานวนนักวิจัย และสิทธิบัตร ทั้งนี้เรื่องสิทธิบัตรของประเทศไทย ถือว่ายังเป็นปัญหาหรือมีข้อจํากัด โดยสิทธิบัตรของไทยส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรของคนต่างประเทศหรือบริษัทต่างประเทศที่เป็นเจ้าของ และส่วนใหญ่จะเป็นสิทธิบัตรการออกแบบ แต่ในประเทศที่เป็นผู้นําทางด้านนวัตกรรม จะเป็นสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากกว่า”
อัพสกิล-รีสกิล ยกสถานะคนฐานราก 1 ล้านคน
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ว่า ใน 5 ปีที่คิดไว้ คือการทำให้คนฐานรากหนึ่งล้านคนถูกยกสถานะขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีประมาณ 10 % ในแต่ละช่วงชั้น โดยสอวช. ได้มีกลไกให้ได้กลับมาเรียนใหม่ หรือมีการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น อาจไม่ใช่เฉพาะในระบบมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงการอัพสกิล- รีสกิล ที่ทำให้มีอาชีพที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการทำโมเดลทดลองร่วมกับผู้ประกอบการที่สนใจ พัฒนาอาชีพเป็นคอร์สเรียนสั้น ๆ ด้านดิจิทัลและการดูแลผู้ป่วย ใช้เวลา 3-6 เดือน เมื่อจบมาสามารถได้งานทำมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 – 25,000 บาท จากเดิมที่อาจจะไม่มีรายได้หรือได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสร้างผู้ประกอบการในชุมชนอีกด้วย
สนับสนุนผู้ประกอบการปรับตัวรับเทรนด์โลก
ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญโลก ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถูกจัดตั้งด้วยนานาชาติ ประเทศไทยซึ่งอยู่ใน Value Chain ของการค้าการลงทุนโลก จึงปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ หากผู้ประกอบการไทยไม่ทำด้วยมาตรการทางภาษี จะทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่ง สอวช.ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยมีการขับเคลื่อนการสร้างเมืองต้นแบบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) อย่างเช่น สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ จ.สระบุรี และที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงพื้นที่ EEC จ.ระยอง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งจะมีบทบาทเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรม
ปรับโฉมมหาวิทยาลัยตอบโจทย์อนาคต
และเป้าหมายสุดท้ายการพัฒนากำลังคน ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. เคยให้ผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวัน ประเมินแล้วว่า หากประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อย่างเช่น ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้เองในประเทศอย่างครบวงจร จำนวนบุคลากรสมรรถนะสูงที่มีอยู่ บวกกับทิศทางการผลิตบุคลากรในอนาคต ที่เด็กยังเลือกเรียนสายวิทย์ เพียง 30 % ถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีฯ ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้
ปัจจุบัน สอวช. ได้มีการสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีระบบสนับสนุนการอัพสกิล- รีสกิล และจัดทำมาตรการส่งเสริม รวมถึงดำเนินการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ให้ตอบโจทย์อนาคต ซึ่งเป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่โดยจะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการกำลังคนทักษะสูงในสาขาที่เป็นความต้องการสูงแบบเร่งด่วนของประเทศ และทดลองนำร่องกลไกในรูปแบบ Co-creation ทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา ภาคผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
แนะภาคท่องเที่ยวสร้างรายได้ “รวดเร็ว”และ “ทั่วถึง”
ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย หากต้องการสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ได้แบบ “รวดเร็ว” และไปสู่ประชาชนได้แบบ “ทั่วถึง” ก็คือ “ภาคการท่องเที่ยว” ที่ปัจจุบันเราใช้อย่างเดียว ขาดการสร้างการลงทุน แม้จะยังอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่เติบโตสูงเท่าที่ต้องการ จึงเสนอว่า ควรพัฒนาเมืองท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีอัตลักษณ์ที่จะทำให้คนมาเชคอิน หรือเรียกว่า “WonderThailand” เริ่มด้วยกำหนด 10 เมืองนำร่อง “ปรับภูมิทัศน์” ทั้งเมืองที่เป็นเอกลักษณ์จากรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นๆ เช่น อยุธยา ปรับให้เป็น “เมืองอารยธรรมกรุงศรี” ร้านค้า โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน สถานที่ต่าง ๆ การแต่งกายของพนักงาน ไปใน theme เดียวกัน เสริมด้วยการละเล่น ศิลปการแสดงต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์
แค่นี้…ก็ขายนักท่องเที่ยวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ถ้าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 10,000 บาท เกิดรายได้เมืองละ 100,000 ล้านบาทต่อปี หากทำ 10 เมือง ได้ 1,000,000, ล้านบาท “ทันที” ปีต่อๆ ไปขยายเพิ่มเป็น 20, 30, 40, 50 เมืองในเวลา 5 ปี สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศถึง 5 ล้านล้านบาท
สำหรับรูปแบบการดำเนินการ ดร.กิติพงค์ บอกว่า “ รัฐบาลกลางควรจัดเป็นการ pitching ให้องค์กรท้องถิ่น เทศบาล หรือจังหวัด ผนึกกำลังกัน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชน รวมถึงประชาสังคม พัฒนาแนวคิดขึ้นมา นำเสนอกับคณะกรรมการ WonderThailand เมืองที่ชนะเลิศ 10 เมือง รัฐบาลจะสนับสนุนเงินลงทุนเมืองละ 10,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าแต่ละเมืองต้องมีเอกชน commit การลงทุนอย่างน้อยอีก 10,000 ล้านบาท จะเกิดการลงทุนทันทีทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท มีการนำหน่วยงานต่าง ๆ มาสนับสนุน เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สนับสนุนเอสเอ็มอีทำซอฟต์พาวเวอร์ และนำกระทรวง อว. รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม และสตาร์ทอัพ แค่นี้เศรษฐกิจฟื้นทันที”
ฉายภาพอนาคต … ไทยจะไม่เหมือนเดิม
จากแผนดำเนินการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ดร.กิติพงค์ บอกว่า สิ่งที่จะเกิดได้ทันที คือ เรื่องของการท่องเที่ยว ที่ภายในหนึ่งปีสามารถที่จะเกิดการลงทุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เกิดการจ้างงาน เงินจะไหลเข้าประเทศ การระดมทุนจะเกิดขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเกิดตามมาเอง
ขณะที่ในระยะกลางถึงระยะยาว หากมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปผลิตสินค้าที่เป็นกลางน้ำ ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น ใส่ของใหม่เข้าไปและเป็นสิ่งที่ประเทศไทยถนัดและมีฐานการผลิตอยู่แล้ว เช่น อาหาร ที่หากมีลงทุนด้านวิจัยและพัฒนารวมถึงพัฒนากำลังคนที่มากพอ ก็จะทำให้เห็นการขยับของ GDP ได้อีกครั้ง
และเมื่อทำเรื่องเศรษฐกิจ หากต้องการให้เกิดความยั่งยืนและไปต่อได้ จำเป็นต้องสร้างผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีทั้งผู้ประกอบการนวัตกรรมหรือ IDE ที่มีผลประกอบการสูง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งสำคัญมาก เพราะปัจจุบันสัดส่วนการจ้างงานกว่า 60 % มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี 40 % มาจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่สัดส่วนรายได้จากเอสเอ็มอีกลับมีเพียง 40 % จึงจำเป็นต้องมีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการกระจายรายทั้งในระบบและการทำงานอิสระซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
สำหรับเศรษฐกิจฐานราก หากยกระดับขึ้นมาให้อยู่เหนือเส้นความยากจน คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น คนที่ด้อยโอกาสน้อยลง ปัญหาต่างๆ จะน้อยลงตาม และหากทำด้านความยั่งยืนได้สำเร็จตามเป้าหมาย และมาตรการของนานาชาติ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังอยู่ใน value chain ของโลกได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็สามารถทําเรื่องการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรอยู่ได้แบบยั่งยืนจริง ๆ แต่ที่ผมเป็นห่วง ซึ่งทํายากกว่าก็คือในมุมของเทคโนโลยีนวัตกรรม ที่หากเราไม่ทําอะไรเลย เราจะเสียดุลอย่างนี้ต่อไป
และสุดท้ายเรื่องการพัฒนาคน ถ้าทําเรื่องนี้ไม่ได้ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็ทําไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่อง “คน” ก็เลยกลายเป็นอะไรที่สําคัญที่สุด ซึ่งการพลิกโฉมอุดมศึกษา จะเป็นรูปแบบการศึกษาใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคตของเด็กและรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต.