วังสระปทุม กทม. วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 9:00 น . สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
สืบเนื่องจากที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญสัมพันธไมตรีด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนากำลังคนระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้เกิดโครงการตามพระราชดำริฯ แนวหน้า ที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของไทยและนานาชาติทั้งในเอเซีย จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แอนตาร์กติกและอาร์กติกสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศไทยทัดเทียมนานาชาติ โดยสถาบันนานาชาติเหล่านี้ ได้แก่ เซิร์น(CERN) ในสวิตเซอร์แลนด์ เดซี (DESY) จีเอสไอ (GSI) และจูลิช(Julich)ในเยอรมัน สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ศูนย์เทคโนโลยีควอนตัมในสิงคโปร์ และสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ในแอนตาร์กติกเป็นต้น
การประชุมประจำปีครั้งที่ 1 นี้ นอกเหนือจากคณะกรรมการและที่ปรึกษามูลนิธิฯจำนวน 13 คนแล้วยังมีทั้งผู้บริหารและนักวิจัยไทยเข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์อีก 58 คน รวมทั้งสิ้น 71 คน โดยมีวาระการประชุม ทั้งสิ้น 13 วาระ และมีตัวอย่างผลงานที่สำคัญเชิงปฏิบัติได้แก่ การสร้างนาฬิกาอะตอมที่แม่นยำสูงมีประโยชน์ต่อวงการดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักวิจัยไทยสามารถพัฒนาได้ด้วยตนเอง ความก้าวหน้าของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รพ.จุฬา ในการบำบัดมะเร็งบริเวณที่วิธีอื่นใช้ไม่ได้ผล และการศึกษาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปกำจัดแบคทีเรีย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ค้นหาความจริงของเอกภพ เช่น การค้นหามวลของอนุภาคนิวทริโน การค้นหาแหล่งกำเนิดอนุภาคนิวทริโน นอกระบบสุริยะและการหาพารามิเตอร์ในสมการพฤติกรรมของอนุภาคดังกล่าว รวมถึงการค้นหากุญแจไปสู่คำตอบว่าสสารมืดที่มีมากมายในเอกภพถึง 21% คืออะไรกันแน่ เป็นต้น
สำหรับการพัฒนากำลังคน มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ ได้มีการคัดเลือกเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยไปร่วมค่ายฤดูร้อนที่เซิร์น เดซีและจีเอสไอ และได้นำนักวิทยาศาสตร์ไทยไปร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2023 ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณเยอรมนี และการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก 2024 ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกนักศึกษาทุนพระราชทานไปศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยของจีน รัสเซีย ไอร์แลนด์ และสิงคโปร์อีกด้วย