ปัญหา “วัยทอง” ของสตรีวัยหมดระดู ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะก่อปัญหาคุณภาพชีวิตทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ยิ่งมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ คนมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้เกือบครึ่งชีวิตของสตรีต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งแม้จะมีการใช้ยาลดอาการหรือปรับฮอร์โมน ก็เป็นๆ หาย ๆ และกลายเป็นวัฏจักร ที่สามารถกลับมาเป็นอีกครั้ง เมื่อมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ
จะดีกว่าไหม …หากสตรีไทยในวัยหมดระดู มีทางเลือกใหม่ที่ไม่ต้องใช้ยาเหน็บ ยาสอด หรือยาปรับฮอร์โมน แต่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีได้เหมือนเดิม
และนี่ก็คือ “Passion” หรือความมุ่งหวังของ “นพรัตน์ สุขสราญฤดี” ประธานกรรมการบริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ที่เข้าใจปัญหา และพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เป็นสตรีวัยหมดระดู
คุณนพรัตน์ กล่าวว่า วิโนน่า ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยของสตรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มามากกว่า 8 ปี ได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายสตรีวัยหมดระดูในเชิงลึก พบว่า มีกลุ่มสตรีวัยทองจำนวนกว่า 16 ล้านคนโดยประมาณในประเทศไทยที่ประสบปัญหาสุขภาวะดังกล่าวและไม่กล้าที่จะไปปรึกษาแพทย์ หรือไม่มีความเข้าใจในภาวะอาการดังกล่าว จึงไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่คอยคุกคามคุณภาพชีวิต
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในวัยทองให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข วิโนน่าได้มีการทำงานร่วมกับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อย่างต่อเนื่อง โดยได้นำ “โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย” ผลงานวิจัยของ “รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์” หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกส์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ผสมสารสกัดจากพืช” เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดู
“ Pain point ที่อยากทำโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากปัญหาของสตรีวัยหมดระดูจะเป็นวัฏจักร เกิดขึ้นต่อไปได้อีกเพราะอายุที่มากขึ้น จึงคิดว่าหากเราใช้โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ที่เหมาะกับสตรีชาวไทย และใช้ฮอร์โมนจากพืชที่ไม่ใช้ยา เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ใช้กลไกธรรมชาติ ใช้ชีวภาพในเมืองไทยดูแลให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราก็จะไม่ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ”
และด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ต้องการผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุด … วิโนน่า ร่วมกับ คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดตัว “โครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ผสมฮอร์โมนจากพืช”
ดร.นพ.อมรินทร์ นาควิเชียร รองคณบดีฝ่ายบริหาร และอาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงของระบบโครงสร้างของประชากร และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของสตรีวัยหมดระดูมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสําคัญ โดยจากข้อมูลของสำนักทะเบียน กรมการปกครอง ในปี 2563 พบว่า มีประชากรผู้หญิงอายุ 45 ปี ขึ้นไปสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งอายุเฉลี่ยของการหมดระดูตามธรรมชาติในสตรีไทยคืออายุ 51 ปี ซึ่งบางรายก็อาจจะหมดระดูก่อน โดยภาวะหมดระดู (Menopause) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติในสตรีทุกคน
การหมดระดูส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งกระทบต่อสัมพันธภาพในครอบครัวได้ด้วย ทั้งนี้มีทั้งภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นผลจากการหมดระดูในระยะสั้น ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ แต่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยตระหนักมาก่อนคือ สตรีวัยหมดระดูทุกรายจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ได้แก่ อาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ กระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตได้
“ปัจจุบันการรักษาหลักของกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะในสตรีวัยหมดระดูคือการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่สอดทางช่องคลอด ซึ่งมีข้อจํากัดในเรื่องของระยะเวลา และข้อมูลในอดีตที่ก่อให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน การรักษาแบบประคับประคองก็ยังไม่ให้ผลดีนักและต้องอาศัยการรักษารูปแบบเฉพาะที่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เกิดความไม่สะดวก แพทย์และผู้ป่วยจึงได้มองหาแนวทางใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการป้องกันโรค การปรับสมดุลภาวะแวดล้อมจุลชีพในช่องคลอดด้วยโพรไบโอติกส์ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้ ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ผสมสารสกัดจากพืชที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะจากถั่วเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์เอสโตรเจนอ่อน ๆ (Phytoestrogen) ชนิดรับประทาน สําหรับสตรีวัยหลังหมดระดู ”
ดร.นพ.อมรินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยบริโภคอาหารเสริม หรือยาจากต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ทั้ง ๆ ที่ไทยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยพอสมควร และบริการทางการแพทย์ก็มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่เรื่องการพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยังค่อนข้างเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย ซึ่งหากสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากโพรไบโอติกส์ ที่เป็นจุลชีพที่ผลิตในประเทศไทยได้ก็น่าจะตอบโจทย์คนไทยและคนในภูมิภาคนี้มากกว่าจุลชีพที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ด้าน รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ ในฐานะที่เป็นผู้คัดแยกโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยมาเป็นเวลา 15-20 ปี กล่าวว่า โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ตัวหนึ่ง ที่อยู่ในร่างกายของทุกคนตั้งแต่เกิดและอยู่กับเราไปตลอดชีวิต โดยอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็พบในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงด้วย ซึ่งจุดที่สำคัญคือเรามีจุลินทรีย์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะ Lactobacillus ที่อยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นตัวคอยปกป้องไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยได้อย่างมาก ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่รักษาจำนวนของเขาไว้ให้มากที่สุด ซึ่งนี่คือหลักสำคัญที่สุดของการนำเอาจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มาช่วยป้องกันการติดเชื้อโดยวิธีธรรมชาติ นอกจากนี้หากใช้จุลินทรีย์ 2 ชนิดทั้งสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC 39-1 และ Bifidobacterium animalis TA-1 จะช่วยในเรื่องลดน้ำตาลและไขมันในเลือดอีกด้วย
“ ด้วยอายุ สภาพร่างกายรวมถึงอาหารการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันการใช้โพรไบโอติกส์ได้กลายมาเป็นเทรนด์อย่างรวดเร็ว เพราะในช่วงโควิด ทำให้คนเราเริ่มดูแลสุขภาพมากขึ้นและพยายามมองหาสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ โดยเป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ยา ซึ่งโพรไบโอติกส์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายคนเราและมีประโยชน์ทั้งปกป้องบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และเมื่อไปอยู่ในอวัยวะส่วนอื่น เช่น ในลำไส้ จะทำหน้าที่ช่วยให้การย่อยดีขึ้น โดยมีการสร้างสารบางอย่างออกมาช่วยดูดซึมอาหาร ลดน้ำตาล ลดไขมัน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันเรื่องของลำไส้รั่ว เพราะมีการปรับสมดุลจุลินทรีย์และเพิ่มการยึดเกาะของเยื่อบุลำไส้ได้ดีขึ้น”
ทั้งนี้โครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพ ฯ จะมีการนําผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยจํานวน 2 สายพันธุ์ ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกส์ ร่วมกับสารสกัดจากพืช ซึ่งทดสอบในห้องปฏิบัติการมาผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสําหรับสตรีวัยหมดระดู และวัดประสิทธิภาพโดยงานวิจัยทางคลินิกศึกษาในอาสาสมัครสตรีวัยหมดระดูอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นไป จํานวน 120 ราย รับประทานผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ร่วมกับสารสกัดจากพืช และผลิตภัณฑ์ทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์
ตั้งเป้าการทดสอบฯ จะช่วยส่งเสริมภาวะแวดล้อมที่ดีทางจุลชีพและกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เป็นผลดีต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพองค์รวมของสตรีไทยวัยหมดระดู ซึ่งเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการดูแลสตรีวัยหมดระดู และเป็นทางเลือกของการดูแลแบบประคับประคองให้กับกลุ่มสตรีที่มีความกังวลและไม่สะดวกในการใช้ฮอร์โมนเฉพาะที่ต่อไป
การทดสอบประสิทธิภาพในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการก้าวไปสู่การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคุณนพรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ ขอบคุณ บพข.ที่ให้การสนับสนุน โครงการนี้ถ้าไม่มี บพข.เราเดินต่อไม่ได้ เพราะการทดสอบให้ประจักษ์ในการเชิงวิทยาศาสตร์นั้นต้องใช้เงินทุนสูงมาก การทำนวัตกรรมจำเป็นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือมีบทพิสูจน์ว่านวัตกรรมนี้มีประสิทธิภาพ ถึงจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาจากงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยอย่างต่อเนื่องประมาณ 5 ล้านบาท นอกจากจะสามารถสร้างยอดขายให้กับวิโนน่าแล้ว 150 – 200 ล้านบาท ยังช่วยสร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับคนไทยอีกด้วย ”