อว. GISTDA ปลื้มทีมหญิงล้วนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผ่านการแข่งขันจาก “GISTDA School satellite competition 2024” ได้รับรางวัลดีเด่นจากการส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม International Space Challenge 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์
นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกก้าวหนึ่งในด้านการสร้างคนด้านอวกาศ เป็นข่าวดีต้อนรับวันสตรีสากล ซึ่งน้องๆ ทีมหญิงล้วนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผ่านการแข่งขันจาก “GISTDA School satellite competition 2024” จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านการบ่มเพาะเยาวชนต้นกล้าโดยเน้นการสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมการแข่งขันด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศจนได้รับรางวัลดีเด่น (Merit Award) ในการส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม International Space Challenge 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติ GISTDA กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจมากๆที่น้องๆเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ประกอบไปด้วย น้องวินเทอร์ไบน์ น้องมะเหมี่ยว น้องจีนเย่ว ที่ได้รับรางวัลดีเด่น (Merit Award) ในการส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม International Space Challenge 2024 ประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นกิจกรรมที่รับสมัครทีมนักเรียนนักศึกษา ที่สนใจด้าน STEM และอุตสาหกรรมอวกาศเข้าไปฝึกฝน เรียนรู้ผ่านการทำเวิร์คชอป และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งธีมของปีนี้คือ Space mining หรือการขุดเจาะเพื่อการสำรวจอวกาศ ซึ่งทีมน้องๆได้เข้าแข่งขันประเภท ISC Advanced Category อายุระหว่าง 15-25 ปี โดยทั้ง 3 คน เคยสร้างผลงานและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการแข่งขัน “GISTDA School satellite competition 2024” ในนามทีม “ใครไม่มา บรูโน่มาร์” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เพิ่งแข่งขันแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
ดร.พรเทพ กล่าวต่อว่า น้องวินเทอร์ไบน์ หรือนางสาวธัญรดา พ่อค้าทอง หนึ่งในทีมผู้เข้าแข่งขันยังเคยผ่านการฝึกอบรมกิจกรรม Know-How Transfer and Training (KHTT) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิศวกรดาวเทียม THEOS-2A ด้านการออกแบบและวิเคราะห์โครงสร้างดาวเทียม เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนในช่วงต้นปี 2566 โดยน้องวินเทอร์ไบน์บอกกับเราว่าได้นำความรู้หลายส่วน โดยเฉพาะขั้นตอนการทดสอบดาวเทียมที่เคยสัมผัสประสบการณ์จริงจากตอนมาทำงานร่วมกับวิศวกร GISTDA ไปใช้วางแผนและออกแบบการทดสอบกับภารกิจครั้งนี้ ถือเป็นความภูมิใจของ GISTDA ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้ และเป็นการตอกย้ำความสำเร็จที่น้องๆสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดได้ในระดับสากล น้องๆยังแชร์ประสบการณ์ให้ฟังอีกว่า ช่วงที่ลงแข่งขันเป็นช่วงที่กำลังเรียน และแข่งขัน school satellite อยู่ด้วยจึงต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี อาจจะรู้สึกท้อตลอดแต่ไม่ถอย สู้เพื่อสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ อนาคตข้างหน้าน้องๆกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยต่อไป