สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เดินหน้าสู่ดิจิทัลในวาระครบรอบ16 ปี ผนึก เอไอเอส และ ภาคีเครือข่าย เปิดตัว ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินดิจิทัลอัจฉริยะ เพื่อคนไทย
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนา ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ครบรอบ 16 ปี ซึ่งถือเอาวันที่ 8 มีนาคม 2551 ที่ประเทศไทย มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 อย่างเป็นทางการ เป็นจุดเริ่มต้น โดย ภายในงานยังได้มีการเปิดตัว ระบบ Digital Platform หรือ iDEMS ที่เป็นการร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชนได้แก่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอ็บโซลูท โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท กรุงศรี นิมเบิล จำกัด
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า “ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 หรือ เมื่อ 16 ปี มาแล้ว และในปีนี้เป็นปีที่มีการยกระดับการปฏิบัติการและให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินสู่ระบบ Digital Platform (iDEMS) ที่เป็นการร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านดิจิทัล โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การลดอัตราการบาดเจ็บ เสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชน และผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้สูงขึ้น พร้อมได้รับการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติภายใน 8 นาที การยกระดับการดำเนินงานในปีที่ 16 เป็นหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาล มุ่งหวังให้เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ลดการตาย พิการ จากการเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น อีกทั้งถือเป็นการ ปรับระบบการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวปลอดภัยของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง”
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. เป็นองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มีผลบังคับเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 ให้เป็นองค์กรกลางในการจัดให้มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อลดและป้องกันความสูญเสียชีวิตและพิการทั้งในภาวะปกติ และภาวะสาธารณภัย โดยประสานการปฏิบัติการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนา และขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินของชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงผ่านสายด่วนฉุกเฉิน หมายเลข 1669 อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการกว่า 8 ล้านครั้ง และในโอกาสครบรอบ 16 ปีนี้ ได้มีการยกระดับการปฏิบัติการฉุกเฉินสู่การเป็น Digital Platform เพื่อรองรับการแจ้งเหตุฉุกเฉิน เชื่อมต่อหมายเลขฉุกเฉินอื่นๆ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อสารเพื่อการปฏิบัติงานหรือให้คำปรึกษาในรูปแบบการแพทย์ทางไกล ระบบ Tracking ยานพาหนะ ที่สำคัญคือระบบการตรวจสอบข้อมูล เพื่อการเบิกจ่ายค่าชดเชยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่ถูกต้อง รวดเร็ว ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนในระบบ UCEP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ด้านนายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบ้าน ครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ เราพร้อมเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างสะดวก เท่าเทียม ไม่ว่าจะผ่านการโทรติดต่อ หรือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในอนาคต อาทิ การเพิ่มช่องทางให้ลูกค้า AIS สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน1669 ผ่านแพลตฟอร์ม myAIS Application รวมถึงพร้อมเป็นช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้ของ สพฉ. ผ่าน AIS PLAY ที่คนไทยสามารถรับชมได้ฟรี
นอกจากนี้ยังได้ร่วมออกแบบการเชื่อมต่อ ระหว่างแอพพลิเคชัน บนรถพยาบาล ที่ทาง SCG JWD Logistic เป็นผู้ดำเนินการหลัก ให้สามารถทำงานร่วมกับเครือข่าย AIS 5G ทั่วไทย เพื่อให้ได้ความเร็วและความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล ของผู้ใช้บริการรถพยาบาล รวมถึงเตรียมนำSolutions Push to Talk มาทดลองทดสอบ เพื่อเสริมในพื้นที่ซึ่งสัญญาณวิทยุสื่อสารของทีมงานไม่ครอบคลุม พร้อมกับ Package ค่าบริการในราคาพิเศษด้วย”
ในโอกาส วันคล้ายวันสถาปนา การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่มาบรรจบครบรอบ 16 ปี นอกจากจะร่วมรำลึกถึงการก่อตั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและสดุดี ให้กับบุคลากรในระบบด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังเป็นการประกาศเตรียมเปิดตัวระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินดิจิทัลอัจฉริยะ (Intelligence Digital Emergency Medical System : iDEMS) ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ภายในเร็วๆนี้อีกด้วย