“HIV ไม่เท่ากับ เอดส์”
นี่คือประเด็นสำคัญที่ “ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2567 อธิบายไว้งานกิจกรรม “NRCT Talk นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567” ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ
ที่ว่าสำคัญ… เพราะหากเข้าใจ ว่า “ HIV ไม่เท่ากับ เอดส์ ” แล้ว จะนำไปสู่การลดการเลือกปฏิบัติ และตีตราผู้ที่ติดเชื้อ HIV เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีชีวิตที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธรในพระราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า HIV คือ ชื่อของไวรัส ส่วนเอดส์คือระยะของโรค ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อ HIV เป็นเวลานานจนป่วยและเกิดภาวะเอดส์ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำมากเกิดภาวะแทรกซ้อน ปัจจุบันไม่ควรมีคนที่เป็นเอดส์แล้ว เพราะมีเวลาในการป้องกันและรักษาก่อนที่จะเข้าสู่ระยะดังกล่าวถึง 7 ปี แต่จะยังมีผู้อยู่ร่วมกับ HIV ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สามารถกินยาต้านไวรัส นาน 6 เดือน เชื้อไวรัสจะต่ำมากจนไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้
สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ประมาณ 500,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับยาต้านไวรัสแล้ว และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณปีละ 9,200 คน ซึ่งเป้าหมายของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตามแนวนโยบาย “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” คือ เน้นลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เหลือต่ำกว่า 1000 คนต่อปี ภายในปี 2573
สำหรับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนอย่างต่อเนื่องในการทำงานวิจัยทางคลินิก โดยมีความคิดริเริ่มในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายระบบวิจัยทางคลินิกให้มีความเข้มแข็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยงานวิจัยมุ่งเน้นทางคลินิกในด้านการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็กและสตรีมีครรภ์ โดยศึกษาวิจัยการใช้งานต้านไวรัส สำหรับเด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วยจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอัตราการเสียชีวิต ส่งผลให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และสามารถเติบโตเข้าสู่วัยทำงานได้ และการให้ยาต้านไวรัส HIV ให้กับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อสู่ทารก
“งานวิจัยทางคลินิกที่ได้ดำเนินการ เป็นงานวิจัยที่เน้นถึงเรื่องการป้องกันการรับเชื้อ HIV ในเด็ก และเยาวชน ในอดีตหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่กับเชื้อ HIV บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเชื้อ HIV ร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันจากการให้ยาต้านไวรัสกับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้บุตรมีโอกาสรับเชื้อ HIV ลดลงเหลือแค่ร้อยละ 1 และแม้จะเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วยยาต้านไวรัส ก็สามารถที่จะเติบโต มีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวได้”
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ทำงานวิจัยทางคลินิกด้านเชื้อ HIV อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี มีผลงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ระดับนานาชาติถึง 280 เรื่อง ถูกอ้างอิง 3730 ครั้ง ซึ่ง ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ บอกว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่การตีพิมพ์ แต่อยู่ที่ว่าข้อมูลวิจัยที่ได้รวบรวมมาถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการรักษาและป้องกันการ ติดเชื้อ HIV ทั้งในประเทศไทยหรือในระดับนานาชาติ ซึ่งในองค์การอนามัยโลกหรือว่าในไกด์ไลน์ของสหรัฐอเมริกา ก็มีผลงานวิจัยไทยที่สามารถไปปักธงไทยไว้ โดยผลงานวิจัยไทยที่ได้รับการอ้างอิง สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทของประเทศอื่น ๆ ได้”
โดยองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ได้รับการผลักดันไปสู่การกำหนดแนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็กและสตรีมีครรภ์ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันเครือข่ายวิจัย HIV เด็กในประเทศไทยและกัมพูชา รวมถึงเครือข่ายวิจัยเรื่อง HIV ในเด็กและเยาวชน ในเอเชีย
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ บอกอีกว่า “ สิ่งที่วิจัยไม่ได้เป็นการประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ เนื่องจากยาต้านไวรัส HIV มีการคิดค้นแล้วในต่างประเทศ แต่ในอดีตจะมีราคาที่สูงมาก ปัจจุบันจากการทั่วโลกร่วมมือกันทำวิจัย ทำให้ยาต้านไวรัสที่เคยมีราคาแพงหลักหมื่นลดเหลือหลักพัน แต่นอกสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ก็ยังคงเข้าถึงได้เฉพาะยาเม็ดที่ต้องทานทุกวัน ทีมวิจัยจึงนำความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา เภสัชวิทยา และระบาดวิทยามาต่อยอดงานวิจัย โดยนำยาต้านไวรัสสูตรต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาเด็กอยู่ร่วมกับ HIV ในประเทศไทย โดยดูว่ายาสูตรใดที่ใช้แล้วผลการศึกษามีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะกับยาที่เราสามารถผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
เมื่อตรวจเจอตอนไหนก็สามารถรักษาได้เลย และรักษาได้ตั้งแต่เด็กมีอายุเพียง 1 เดือน ซึ่งการตรวจเชื้อสามารถตรวจได้ตั้งแต่ในครรภ์ เดิมหากไม่ได้รับยา เด็กจะมีอายุไม่เกิน 10 ขวบ แต่ปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่เกิด และได้รับการให้ยาต้านไวรัส สามารถเติบโตมีอายุที่ยืนยาว สามารถไปโรงเรียนและเข้าสู่วัยทำงาน รวมถึงมีครอบครัวได้ ”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ทำให้สามารถหายขาดจากเชื้อ HIV ได้ หากผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV หยุดยาเพียง 1 เดือน เชื้อ HIV จะกลับมาเท่าเดิม ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV จำเป็นต้องทานยาต้านไวรัสแบบเม็ดอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายฟื้นตัวกลับมาปกติ แม้ต่างประเทศจะกำลังพัฒนายาต้านไวรัสแบบฉีดที่มีประสิทธิภาพอยู่ได้นาน 2-6 เดือน แต่ก็ยังเข้าถึงได้ยาก และยังต้องมีการวิจัยต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องร่วมรณรงค์ในปัจจุบันก็คือ “ ไม่ติด ไม่ตาย และไม่ตีตรา” ซึ่งหมายถึงช่วยกันลดผู้รับเชื้อรายใหม่ หากมีเชื้ออยู่ในร่างกายได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ไม่มีอาการเจ็บป่วย และไม่ตีตรา เพื่อให้โอกาสผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ.