นักวิจัย อพวช.ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เตรียมนำองค์ความรู้ไปต่อยอดด้านทรัพยากรและอนุรักษ์พันธุกรรม พร้อมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เดือน มิ.ย. – ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ( อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของ อพวช.นำโดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และ ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล น.ส.ธัญชนก สมหนู นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.จิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และดร.วัฒนา ตันมิ่ง สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” (K. noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะหอม สกุลย่อยดอกดิน (โพรแทนเธียม) มีสถานะทางอนุกรมวิธานอยู่ภายใต้ชนิด “เปราะใบม่วง” (Kaempferia noctiflora Noppornch. & Jenjitt.) พบเฉพาะ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น ผลงานการค้นพบได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567
ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า “ เปราะใบม่วง” ถูกค้นพบครั้งแรกที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ มีลักษณะเด่น คือ ใบมีสีเขียวถึงม่วงเข้ม มักพบแถบสีม่วงเเดงตามแนวเส้นกลางใบด้านหลังใบ ดอกสีขาวบริสุทธิ์ และเบ่งบานในเวลากลางคืน ภายหลังใช้ชื่อเรียกว่า “เปราะราตรี” ตามลักษณะเวลาการบานอันเป็นเอกลักษณ์ ต่อมาทีมนักวิจัยค้นพบพืชสกุลเปราะใน อ.ดอยสะเก็ดและสันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายคลึงอย่างมากกับเปราะราตรี แต่พบว่ากลีบปากมีแต้มสีม่วงบนพื้นกลีบสีขาว อีกทั้งมีดอกที่เริ่มบานในตอนเช้าทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเปราะราตรี หรือ เปราะใบม่วงนั้น ไม่ได้มีเพียงประชากรที่มีดอกสีขาวและบานในเวลากลางคืนเท่านั้น
จากการตรวจสอบลักษณะทางเซลล์พันธุศาสตร์ ขนาดจีโนม และสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ เบื้องต้นพบว่าข้อมูลทางพันธุกรรมไม่สามารถแยกเปราะต้นดังกล่าวเป็นชนิดที่ต่างไปจากเปราะใบม่วงได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามหลักฐานลักษณะสัณฐานวิทยาเพียงพอต่อการจัดจำแนกอนุกรมวิธานในระดับต่ำกว่าชนิด โดยจำแนกเปราะใบม่วงออกเป็น 2 พันธุ์ คือ เปราะราตรี (K. noctiflora var. noctiflora) ซึ่งมีดอกสีขาวบริสุทธิ์และบานเวลากลางคืน และเปราะนพรัตน์ (K. noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) ที่มีดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงบนกลีบปาก และดอกบานในตอนเช้า ซึ่งได้ตั้งเป็นเกียรติให้แก่ ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผอ.สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้สนับสนุนและผลักดันงานวิจัยทางด้านธรรมชาติวิทยา รวมถึงโครงการความหลากชนิดและอนุกรมวิธานของดอกดินสกุลเปราะในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมและการใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
การค้นพบครั้งนี้นอกจากจะเป็นการขยายขอบเขตองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของดอกดินสกุลเปราะในประเทศไทย ยังเผยให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์พันธุกรรมในอนาคต พร้อมทั้งช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านงานวิจัยด้านอนุกรมวิธาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งผลงานชนิดเปราะกลุ่มดอกดินจะถูกนำมาเก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิง โดยมีแผนจะนำไปจัดแสดงให้เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ ประมาณช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. ณ สวนรุกขชาติ อพวช. ส่วนจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าต่อไป