สกสว. พร้อมขับเคลื่อนภาคอุดมศึกษา เดินหน้าพัฒนา ม.แม่โจ้ สู่ผู้นำด้านการเกษตรทันสมัย พร้อมนำวิจัย และนวัตกรรมยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมของไทยสู่เกษตรยั่งยืน
กรุงเทพ 18 มีนาคม 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการเกษตรเป็นหลัก เดินหน้านำงานวิจัยและนวัตกรรมยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมของไทยสู่เกษตรยั่งยืน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่งเสริมให้มีมูลค่าสูง ด้วยการพัฒนางานวิจัยในอนาคต สร้างมูลค่าทางตลาดให้ประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรม ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตาม 4 ยุทธศาสตร์หลักของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทย การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคน สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งพลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคต
รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กสว. คนใหม่ โดยมีนโยบายมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1. ชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ประเทศ 2.แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เห็นผลใน 2 ปี 3. ต่อยอดใช้ 5G สุดล้ำ ด้านการแพทย์-เกษตร 4. ใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพเพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5. นักวิจัยเข้าถึงระบบ ‘Tracking System’ การวางระบบกระบวนการการให้ทุนวิจัย
“งบประมาณที่กองทุน ววน. ได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินในปี 2567 จำนวน 19,033.67 ล้านบาท เพื่อนำไปบริหารจัดการให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน “Program Management Unit: PMU” สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานทั้งในและนอกระบบ ววน. การส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทย การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคน สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งพลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับโลกอนาคต”
รศ. ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการเกษตรเป็นหลัก โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้พี่น้องชาวเกษตรกรอยู่ได้ ทั้งด้านการวิจัยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชและการขยายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแค่พัฒนาในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เท่านั้น แต่จะเป็นการขยายผลไปทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางตลาดให้แก่ประชาชน เกษตรกรมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีมูลค่าสูง ด้วยการพัฒนางานวิจัยในอนาคตเพื่อช่วยประชาชนอย่างแท้จริง เพราะแม่โจ้คือมหาวิทยาลัยชีวิต
ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล รองผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ กล่าวถึงข้อมูลการรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของหน่วยงานและการติดตามประเมินผลของกองทุน ววน. ที่มุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ระบบ ววน. ของประเทศถูกขับเคลื่อนและพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำงานแบบเครือข่ายระหว่าง สกสว. หน่วยบริหารจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ตลอดจนหน่วยงานนอกระบบ ววน. 2. เกิด Accountability ของหน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเกิดจากการเผยแพร่ผลการประเมินสู่สาธารณะ 3. แนวคิดเรื่องการประเมินเพื่อการพัฒนาได้เผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 4. หน่วยบริการจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ สามารถพัฒนากระบวนการทำงานให้มีความสามารถในการบริหารและจัดการทุนได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และเกิดผลกระทบในวงกว้าง
ส่วนระบบติดตามการดำเนินงานและผลงานของระบบ ววน. นั้นประกอบด้วย การติดตามการดำเนินงาน การใช้งบประมาณตามแผน สามารถส่งมอบผลผลิตระหว่างทางจนถึงสิ้นสุดอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล การติดตามผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้วยการส่งมอบผลผลิตของ PMU หน่วยรับงบประมาณ และผลลัพธ์การใช้ประโยชน์ มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบในระดับโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ในระบบ NRIIS
ด้าน รศ. ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนุนการเป็นเกษตรสุขภาวะส่งเสริมใน 3 ด้าน คือ 1.สังคมเกษตรอินทรีย์ 2.สังคมนิเวศ และ 3.สังคมสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเกษตร อาหารและสุขภาพ ด้วยการบริหารจัดการงานวิจัย อย่างเป็นระบบ อาทิ การมียุทธศาสตร์และแผนงานวิจัยและและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับ Stakeholders การพัฒนานักวิจัย กำลังคนและคุณภาพงานวิจัยที่ตอบโจทย์ การพัฒนาเครือข่ายวิจัยครบ Supply Chian ส่งเสริมการเผยแพร่และต่อยอดผลงานวิจัยครบทุกมิติ การขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาระบบบริหารจัดการผลงานวิจัยเพื่อแสวงหาแหล่งทุน
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารและนักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาทิ 1. โครงการการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะหน่วยความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงข้าวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับงบประมาณด้าน ววน. ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 2566 คือ โครงการการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ย ข้าวเหนียวหอม พันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ให้อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก และ “เจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ” เป็นข้าวเจ้า สีดำ ที่มีกลิ่นหอม นุ่มพิเศษ ไม่แข็ง หุงง่าย ไม่ต้องแช่ ไม่ต้องผสมข้าวขาว มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ 2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิต ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบัณฑิต ระดับ ป.ตรี-ป.เอก ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพให้เรียนรู้การเป็นบัณฑิตผู้ประกอบการ พร้อมเร่งใช้กระบวนการวิจัยแก้ปัญหาและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไทย ให้ฝึกฝนการคิดนอกกรอบ ลองผิดลองถูก สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่ขายได้หรือนำไปต่อยอดประกอบธุรกิจ ให้มีทักษะและมีประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เป็นนวัตกรรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน