สถาบันไฟฟ้าร่วมกับ วช.และพันธมิตร จัดสัมมนาผลการศึกษาแนวทางจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้วของระบบปรับอากาศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสอดคล้องตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
19 มีนาคม 2567 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานสัมมนาผลการศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิจัยแนวทางในการติดตาม การรวบรวม และการจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้วของระบบปรับอากาศ” ณ ห้องเคนซิงตัน โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ กรุงเทพฯ เพื่อเสนอผลการศึกษาวิจัย และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย กล่าวเปิดสัมมนา
ภายในงานมีการนำเสนอภาพรวมและวัตถุประสงค์ของโครงการ โดย ดร.สุรัส ตั้งไพทูรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (หัวหน้าโครงการ) นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยจากคณะนักวิจัยของโครงการ ใน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านแนวทางการเก็บกู้สารทำความเย็น โดยนายธนวัฒน์ นุมานิต ผู้แทนบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด มิติด้านการใช้งานระบบติดตามสารทำความเย็น โดยนางสาวกรรณิการ์ ความสวัสดิ์ ผู้แทนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย มิติด้านผลการวิเคราะห์คุณภาพสารทำความเย็นและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดย ดร.สิริพร บริรักวิสิฐศักดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร และมิติด้านข้อเสนอแนะมาตรการ ปัญหาอุปสรรค และวิธีการป้องกัน โดย ดร.สิริพร บริรักวิสิฐศักดิ์ และนายรัตน์ศักดิ์ ทองอิ่ม ผู้แทนบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด
การจัดสัมมนาในวันนี้ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะนักวิจัย และผู้ร่วมการสัมมนาทั้งทางออนไซต์และออนไลน์ (Onsite / Online) ต่อผลการศึกษาและการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างเหมาะสมที่สอดคล้องตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการติดตาม การรวบรวม และการจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้วสำหรับประเทศไทย ซึ่งสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ จัดทำเป็นฐานข้อมูลสนับสนุน เพื่อสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการจัดการสารทำความเย็นที่ผ่านการใช้งานแล้ว และกำหนดเกณฑ์หรือวิธีการในการจัดการสารทำความเย็นอย่างเหมาะสม เช่น ข้อมูลสนับสนุนให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการออกมาตรการในการรวบรวมและการจัดการสารทำความเย็นเพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนับสนุนมาตรการลดการนำเข้าสารทำความเย็นประเภท HCFCs ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution: NDC) ได้ต่อไป