NIA จับมือ LiVE Platform และพันธมิตรปั้นผู้ประกอบการธุรกิจ New Economy

News Update

NIA จับมือ LiVE Platform, TCELS และ KPMG ปั้นธุรกิจ New Economy สู่ตลาดทุน ผ่านโครงการ  “ New S Curve to Capital Market”  เปิดรับ 60 บริษัท ร่วมพัฒนาศักยภาพและมีโอกาสรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน สูงสุดบริษัทละ 1 ล้านบาท   

วันนี้ ( 26 มีนาคม 2567) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ LiVE Platform โดยบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ New S Curve to Capital Market”  นำความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานพันธมิตรสนับสนุนผู้ประกอบการในดารพัฒนาธุรกิจใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ Life Science, High Technology และ High Growth   พร้อมโอกาสรับทุนสนับสนุน  1ล้านบาท เพื่อการเติบโตเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพพร้อมเข้าสู่ตลาดทุน และมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ   

นายประพันธ์  เจริญประวัติ  ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการผ่าน LiVE Platform แพลตฟอร์มที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาธุรกิจให้เติบโต เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนต่อไป  ซึ่งในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ New Economy ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจของประเทศให้โตได้อย่างก้าวกระโดด จึงได้มีการต่อยอด LiVE Platform ด้วยโครงการ  New S Curve to Capital Market”   ซึ่งเป็นการสร้างผู้ประกอบการที่เป็น New Economy โดยมุ่งเป้าหมายที่ธุรกิจ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ Life Science ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ High Technology ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และ High Growth ธุรกิจที่มีศักยภาพการขยายตัวสูง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลักที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ TCELS, NIA และ KPMG  

ทั้งนี้โครงการ New S Curve to Capital Market มุ่งพัฒนาความรู้และเทคนิคในการดำเนินธุรกิจ ทักษะการบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมเพื่อการเติบโตและระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ  โดยโครงการเปิดรับจำนวน 60 บริษัทร่วมพัฒนาศักยภาพ ผ่านการ Workshop, Coaching และ One-on-One Coaching ตลอด 4 เดือน (กรกฎาคม-ตุลาคม 2567) โดยผู้ประกอบการมีโอกาสรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุดบริษัทละ 1 ล้านบาท รวมถึงทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า บทบาทสำคัญของ NIA คือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ การผสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประตูสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาควิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น New Economy ของประเทศมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง เตรียมระบบงานให้มีความพร้อม สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การระดมทุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและขยายผลสู่เศรษฐกิจและสังคมไทย

“การมาร่วมหลักสูตรนี้ เรามองว่าผู้ประกอบการนวัตกรรมจะได้เรียนรู้ถึงกลไกต่าง  ๆ ในการที่จะเติบโตไปสู่ตลาดทุน ซึ่งเป็นการระดมเงินทุนที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด เพราะไม่มีดอกเบี้ยที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ที่ต้องจ่ายตลอดเวลา   สิ่งที่ NIA จะเข้าไปช่วย คือการเสริมแกร่งให้กับบรรดาคนที่มาเรียนหลักสูตรดังกล่าวในมิติ ของนวัตกรรม  โดยรับผิดชอบโมดุลหลักเรื่องของเทคโนโลยีกับนวัตกรรม”

ดร. กริชผกา   กล่าวอีกว่า  สถานการณ์สตาร์ทอัพในปัจจุบัน คือ ช่วงล้มหายตายจากน่าจะจบลงแล้ว เหลือแต่ธุรกิจที่อยู่รอดและเกิดขึ้นใหม่  ซึ่ง  NIA จะทำให้แข็งแรงขึ้น โดยกลไกนอกจากการให้ทุนแล้วยังมี  Corporate  Matching Fund  ที่จะช่วยให้มีการเติบโตได้เร็วขึ้น  รวมถึงในปีนี้ NIA มีแนวความคิดในการทำเป็น Holding Company ที่ NIAจะร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพต่าง ๆ  เพื่อให้นักลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรมเกิดความมั่นใจและพร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจของสตาร์ทอัพมากขึ้น

สำหรับการแข่งขันด้านเทคโนโลยี  ดร. กริชผกา   กล่าวว่า  “ ในปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมาเร็ว มาแรงและ ไปไวค่อนข้างมาก นวัตกรรมจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทยเยอะมาก อย่างเช่น ตลาด EV ที่มีแต่แบรนด์ต่างประเทศ    กลไกการให้ทุนของ NIA  ในเรื่อง EV  จึงมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีแวดล้อมที่คนไทยยังมีพื้นที่ในการเล่น อย่างเช่น สถานีชาร์ท อุปกรณ์ในการเชื่อมต่อและระบบต่าง  ๆ   หรือว่าเรื่องเอไอ  ซึ่งเป็นอีกเทรนด์ที่มาแรง  เอไอฉลาดเพราะข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ  เพราะฉะนั้น ปัจจุบันเรามี Chat GPT  ที่เป็นภาษาไทย เราเริ่มทำเอไอภาษาไทยมากขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการของคนไทย   มีการพัฒนาเอไอทางด้านต่าง  ๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าแม้เทคโนโลยีจะตั้งต้นจากต่างประเทศแต่ก็ยังมีพื้นที่สำหรับคนไทย ที่จะทำธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถมารองรับการแข่งขันนี้ได้ และที่น่าสนใจคือคนไทยเก่งมากในเรื่องของเกษตรและอาหาร  และยังสามารถทำได้ดีในเรื่องการแพทย์และงานครีเอทีฟ  อีกด้วย”

นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หรือ Life Science มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น TCELS จึงรับหน้าที่สำคัญในระดับประเทศเพื่อสนับสนุน ขับเคลื่อน และยกระดับนวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการในอุตสาหกรรม รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เสริมสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างรวดเร็ว

 TCELS จึงได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็น New Economy ของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขัน ตลอดจนสนับสนุนการสร้างเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาวกล่าวว่า เคพีเอ็มจี มีความพร้อมและมีทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวางแผนธุรกิจและการแข่งขัน ตลอดจนช่วยเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ โดยเคพีเอ็มจีให้ความสำคัญในด้านกลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์ด้านการดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านการเงิน กลยุทธ์ด้านบุคลากร รวมถึงการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับแนวทางในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจตลอดจนการก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ผู้ประกอบการที่สนใจศึกษารายละเอียด และสมัครเข้าร่วมโครงการ New S Curve to Capital Market ได้ที่ https://www.live-platforms.com/th/newscurve2024/