โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำในกระบวนการต่างๆ จำนวนมากทั้งการล้างและการผลิต ที่ทุกขั้นตอนต้องมีความสะอาด และการใช้น้ำจำนวนมหาศาลนี้เอง ก็ทำให้เกิดปริมาณน้ำเสียจำนวนมากตามมา ซึ่งต้องผ่านการบำบัดให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก่อนที่ภาครัฐจะอนุญาตให้ปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกรมเจ้าท่า ได้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหมุนเวียนน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม
และ “ Zero Wastewater Discharge ” หรือการไม่ปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแม้แต่หยดเดียว ก็คืออีกแนวคิดหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมที่มีพัฒนาการและได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการบริหารจัดการ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการนำน้ำเสียจากการผลิตกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เหลือทิ้ง
แต่แนวคิดดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ล่าสุด…บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก ประกาศความสำเร็จในการพัฒนา “โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์” หรือ “Zero Wastewater Discharge” ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ เกิดศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)
….ความน่าสนใจของโครงการนี้… ไม่ได้อยู่ที่ความไฮเทคของเทคโนโลยีการบำบัด ที่บริษัทขนาดใหญ่มีกำลังทรัพย์ก็สามารถซื้อหามาใช้ได้เอง ซึ่งผลที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และขาดความยั่งยืน แต่ความสำเร็จนี้มีที่มาจากแนวคิดที่มุ่งมั่นคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำสาธารณะ มีการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ และที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีมให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักในการช่วยลดการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทาง โดยเส้นทางการพัฒนาเน้นการพึ่งพาตนเอง ผ่านการลองผิดลองถูก จนสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม…
โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ตั้งอยู่ที่โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานปลาสำหรับผลิตอาหารทะเลแช่แข็งสำเร็จรูป และเป็นโรงงานที่มีปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างมหาศาลในแต่ละวัน จนถึงขนาดที่โรงงานแห่งนี้เคยได้รับรางวัลจากการประปาส่วนภูมิภาคในฐานะผู้ใช้น้ำสูงสุดอันดับหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร
โดยแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน คือ การใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป
ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก
โครงการดังกล่าว เริ่มมีการทดลองระบบ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยรองรับการบริหารจัดการน้ำทิ้งได้สูงสุดถึงวันละ 9,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันจากการใช้ระบบบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางในโรงงานต้นแบบแห่งนี้ สามารถลดการใช้น้ำประปาในกระบวนการผลิตจากเดิม 7,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือเพียง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเกิดเป็นน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดวันละไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตร
และจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรนี้ เมื่อเข้าสู่ระบบกรองแบบ UF จะมีต้นทุนการผลิตประมาณลูกบาศก์เมตรละ 8 บาท และเมื่อผ่านระบบ RO จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มเป็น 14 บาท ซึ่งยังถูกกว่าต้นทุนในการผลิตน้ำ RO จากน้ำประปาที่มีต้นทุนสูงประมาณ 30 บาท
ปัจจุบันในโครงการ ฯ สามารถผลิตน้ำ RO สำหรับใช้ในระบบทำความเย็นประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO สำหรับใช้ในการทำความสะอาดในไลน์การผลิตต่าง ๆ อีกประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยทดแทนการใช้น้ำประปาปกติที่ราคา 23 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
…จากการบริหารจัดการการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทางและการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ทำให้โรงงานสามารถลดต้นทุนการผลิตที่เป็นค่าน้ำประปาได้ถึง 27,837,000 บาทต่อปี …
นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุถึงสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำ Zero Wastewater Discharge ครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่เป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเล ว่า หลักสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้และพัฒนาของบุคลากรที่ไทยยูเนี่ยนมีการนำระบบ TPM ( Total Productive Maintenance)มาใช้เป็นเวลากว่า 6 ปี เพื่อ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียลดต้นทุน สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและที่สำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ดีขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ บุคลากรของเรา ติดตั้งระบบเอง ดูแลการใช้งานเอง จนกระทั่งต้นทุนของการผลิตน้ําถูกกว่าน้ำประปาและถูกกว่าการจ้างผู้รับเหมาภายนอก ซึ่งระบบ UF และ RO ไม่ใช่เป็นระบบใหม่ มีใช้มาเกือบ 20 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสําเร็จ เนื่องจากน้ําที่ผลิตออกมายังมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าน้ําประปา ทำให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากโรงงานต่าง ๆ ขณะที่ในโรงงานของเรามีการทำงานร่วมกันในหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายวิศวกรรมน้ําดีน้ําเสีย และทุกคนในโรงงาน ซึ่งหัวใจของโครงการนี้ คือการทํางานเป็นทีมร่วมมือกัน และต้องลดน้ําตั้งแต่ต้นทาง
เราไม่ใช่แค่มุ่งมั่นที่จะผลิตน้ําจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมารีไซเคิล แต่เราต้องเน้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น และแยกส่วนที่เราค่อนข้างมีปัญหาออกมาเพื่อศึกษาการบําบัดที่ถูกต้อง และที่สําคัญคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการติดตามการใช้น้ำ ทำให้มีข้อมูลย้อนหลังภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เราประสบความสําเร็จในการทําโครงการครั้งนี้”
สำหรับโครงการดังกล่าวใช้เม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนารวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนตั้งต้นจาก บพข. 3.6 ล้านบาท และ ไทยยูเนี่ยน 8.4 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 หนึ่งในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573
“ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีคุณค่าจาก อว. บพข. และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงความทุ่มเทของทีมงานในการออกแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ได้น้ำสะอาดที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนในระบบได้ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียน และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรายินดีให้การสนับสนุน บพข. อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเพื่อโลกของเรา” นายสุทธิเดช กล่าว
ด้าน นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการฯพร้อมกับสื่อมวลชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. โดยท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี มีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Go Green) ความพอเพียงและความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ในปี 2573 ซึ่งโครงการนี้ นอกจากจะเป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท สามารถช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนในการบำบัดน้ำแล้วยังช่วยลดการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมได้ และนำมาซึ่งการลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นการขับเคลื่อน BCG ของประเทศไทย
รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข.ให้ทุนโครงการนี้ผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศให้ผู้ประกอบการทุกระดับ โดย “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่กำลังจะเปิดให้บริการ จะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือ และร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 นี้ บพข. ได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน กว่า 300 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรามีเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG 30 Mt CO2 e , เพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศ
“โครงการ Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ที่ บพข. ให้ทุนไป ไม่เพียงเป็นการพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในปริมาณมาก ให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อช่วยลดการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่มี case study จริง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีนี้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ และผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้น้ำเป็นปริมาณมาก เพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญช่วยลดต้นทุนในการใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยต่อไป”
ขณะที่ นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Zero Wastewater Discharge ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของเราเอง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยได้
โครงการนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนที่นำเอานวัตกรรม พันธกิจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลผู้คนและโลกใบนี้.