“พุทธิพงษ์” หนุน NT ใช้ 5G จัดทำดาต้า HIE Alpha Test รวมฐานข้อมูลผู้ป่วยบนคลาวด์ภาครัฐ ระบุ ประชาชนไม่ต้องเสียเวลากรอกข้อมูลใหม่ในทุกครั้งที่เข้ารพ. ล่าสุด มี 140 รพ.เข้าร่วมโครงการ ร่วมสู้ภัยโควิด-19
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำดาต้า HIE Alpha Test ระบบสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน อาทิ 5G ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เชื่องโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั่วประเทศแล้ว 140 แห่ง ซึ่งลักษณะการทำงานจะเป็นการรวมฐานข้อมูลผู้ป่วย มาจัดเก็บไว้ในระบบคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) ของ NT ภายใต้รูปแบบเฮลธ์แคร์ ผ่านระบบ 5G เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน ทั้งสำหรับโรงพยาบาลและผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ราชวิถี รพ.สมุทรปราการ และรพ.ประจำจังหวัดต่าง ๆ
” ระบบดังกล่าว จะจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยไว้บนคลาวด์ เช่น 1. ข้อมูลทั่วไป 2. การแพ้ยา 3. โรควินิจฉัย 4. การจ่ายยา 5. วัคซีน 6. ประวัติพัฒนาการ 7.รายงานผลการตรวจ และ 8. ผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากรพ. ต่างๆ เป็นอย่างดี โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลเป็นเวลาเกือบปี จนขณะนี้มีรพ.เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้เร่งดำเนินการมาตลอด ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าโครงการมาพอสมควรแล้ว จึงมองว่าโรงพยาบาลไหนพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลคนไข้ก็เข้าร่วมโครงการได้ก่อน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของโครงการ อีกทั้งประชาชนต้องใช้ประโยชน์เต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาทำประวัติคนไข้ใหม่ ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลคนไข้ได้ทันที เมื่อคนไข้ยินยอมให้ใช้ข้อมูลส่วนตัวและประวัติการรักษาซึ่งช่วยลดขั้นตอนการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปหลายจังหวัด
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเชื่องโยงข้อมูลคนไข้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อีกทั้งในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลยืนยันว่าไม่ได้มีการละเมิดสิทธิ์แน่นอน เพราะปกติประชาชนไปโรงพยาบาลจะต้องลงทะเบียน กรอกประวัติคนไข้อยู่แล้ว ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลไม่ต้องมากรอกประวัติใหม่ และด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อว่าทุกรพ.มีระบบที่ดีรองรับอยู่แล้ว