…เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่คร่ำวอดอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศไทยมานานหลายสิบปี
กับ “ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)หรือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติในปัจจุบัน และเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ล่าสุด …หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวง อว. “ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)” หน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้มีความสอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลให้ความสนใจที่จะนำวิจัยมาใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รวมถึงได้มีการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิจัยของประเทศ ทำให้การวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้น มีการเพิ่มทรัพยากรในการวิจัยและการขยายตัวของนักวิจัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการปฏิรูป ซึ่งกองทุน ววน. นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ รวมถึงการดูแลส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตร์ในทุก ๆ ด้านอีกด้วย
“เรามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายและที่สำคัญ คือ มีกองทุน ววน. เป็นเครื่องมือในการที่จะจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ เข้าไปช่วยในการดำเนินการในมิติต่าง ๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นช่วยทำให้ประเทศมีความชัดเจนว่าจะทำวิจัยในด้านใด และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ด้วยการให้กองทุน ววน. เข้าไปสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่ทางสภานโยบายได้กำหนดไว้”
สำหรับทิศทางการทำงานของ กสว. ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่าสิ่งสำคัญคือ กสว. ต้องการขับเคลื่อนให้การวิจัยและนวัตกรรมสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศไปในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และผู้ใช้ประโยชน์ มีการนำเอาความรู้ทางวิชาการมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันก็สร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวด้วยการพัฒนากำลังคนทำให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยทั้งในเชิงลึกและงานวิจัยที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้
ทั้งนี้ในปี 2567 รัฐบาลได้ให้งบในการวิจัยของประเทศอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณนี้จะใช้ในการขับเคลื่อนการวิจัยในเชิงกลยุทธ์ ในการตอบโจทย์ปัญหาที่สำคัญ เช่น PM 2.5 การบริหารจัดการน้ำ บริการด้านสุขภาพ การพัฒนาความรู้เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็เสริมให้นักวิจัยสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณภาพสูง ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ในปี 2567 นี้ ยังมีงบประมาณเพื่อที่จะขับเคลื่อนการวิจัยไปใช้ประโยชน์และเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศอีกด้วย
ส่วนการดำเนินงาน กสว. มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่สำคัญได้แก่ การรับนโยบายจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีจาก 12 กระทรวงเป็นกรรมการ เพื่อที่จะร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางว่าเรื่องใดที่เป็นเรื่องที่สำคัญ และประเทศจะใช้งบประมาณวิจัยในแต่ละด้านเท่าไหร่ จากนั้น กสว. จะลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น กำหนดเป้าหมายและจัดสรรงบประมาณไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญ ก็คือ หน่วยบริหารจัดการทุนที่เรียกว่า PMU ทั้ง 9 หน่วยงานทั้งในกระทรวง อว.และนอกกระทรวง อว.รวมถึงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย
อย่างไรก็ดี กสว.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นชุดที่ 2 หลังจากมีการปฏิรูประบบการวิจัยรูปแบบใหม่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดแผนงานและวาระเร่งด่วน เพื่อให้เห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีทิศทางตามที่ประเทศต้องการ โดยประกอบด้วย
1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลไกขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ ประชาคมวิจัยมีความเชื่อมั่นในระบบ ววน. เน้นการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาคมเพิ่มเติมจากที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
2. กำหนดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค แม้อยู่ในสภาวะงบประมาณจำกัด มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
3. สร้างการเจริญเติบโตและความเสถียรของกองทุน ววน. ด้วยกลไกของการกำหนดทรัพยากรส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาศัยการมีส่วนร่วม demand side approach เช่น แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยาและเคมีภัณฑ์ มีวัคซีนเพียงพอ น้ำท่วมน้ำแล้ง โดยระบุระยะเวลาความสำเร็จที่ชัดเจน
4. ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลไกอื่นของประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบที่มากขึ้น รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการทำแผนการปฏิบัติงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครบถ้วน และเหมาะสมทั้งกรอบของกระบวนการ กรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
5. การปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบสำคัญเพื่อให้มีความคล่องตัวมุ่งเน้นการดำเนินงานเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
และ 6. มุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ.