“ศุภมาส” โชว์ “แพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่ออนาคตไทย“ ในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรี OECD กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดึงประชาชนและสาธารณะร่วมกำหนดนโยบาย นำร่องใช้งานเดือน ส.ค.นี้ พร้อมจับมือเยอรมนีลงนามปฏิญญาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้าขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Committee for Scientific and Technological Policy (CSTP) Ministerial) โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. และผู้บริหาร อว. เข้าร่วม ณ สำนักงานใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
โอกาสนี้ น.ส.ศุภมาส ได้เข้าร่วมการประชุมภาคีเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับสูง (Multistakeholder High-Level Dialogue) โดยเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคต : เราจะดึงดูดการมีส่วนร่วมของผู้คนที่หลากหลายได้อย่างไร” (Shaping science and technology policies for our future: how to engage diverse audiences?”) โดย รมว.อว. กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น กระบวนการนโยบายแบบเดิมอาจไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมอีกต่อไป การจะดำเนินนโยบายให้ประสบความสำเร็จต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน การแบ่งแยกประชาชนออกจากกระบวนการนโยบายจะทำให้พวกเขารู้สึกขาดการเชื่อมโยงกับการตัดสินใจของรัฐ กระทรวง อว. โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และ UNDP จึงได้พัฒนา “แพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบายเพื่ออนาคต” (Policy Innovation Platform for the Better Future: PIP) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบาย
รมว.อว. กล่าวต่อว่า แพลตฟอร์มนี้คือการปรับแนวทางการพัฒนานโยบายให้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและสาธารณะให้เข้าใจถึงความท้าทายของการพัฒนานโยบาย ตัวอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์บริการสาธารณะเชิงนวัตกรรมที่ตอบความต้องการของภาคประชาชน มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนานโยบายที่เปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลาง แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีการนำร่องใช้งานแพลตฟอร์ม ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นี้
จากนั้น รมว.อว. ได้ร่วมหารือกับนางเบททีนา ชตาร์ก-วัทซิงเงอร์ รมว.การศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในประเด็นความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกัน เช่น ความร่วมมือพหุภาคีภายใต้กรอบการลงทุนร่วมระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ยุโรปเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการแสวงหาโอกาสความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ตอบรับนโยบายของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ รมว.อว. และ รมว.การศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ร่วมลงนาม “ปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” เพื่อเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เสรีภาพทางวิชาการ และผลประโยชน์ร่วมกัน