ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน แต่กำลังจะเผชิญปัญหาวิกฤติประชากร ด้วยอัตราการเกิดที่ลดลงเหลือเพียงประมาณ 5 แสนคนต่อปี ส่งผลต่อวัยแรงงานในอนาคตที่จะลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญ…คาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30 % ในอีก 12 ปีข้างหน้า
และในปี 2583 อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุกับวัยแรงงาน จะเพิ่มเป็น 70 % จากปัจจุบันที่ผู้สูงอายุพึ่งพาลูกหลาน ประมาณ 50 % วิกฤติประชากรเหล่านี้ … ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะต้องช่วยกันพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนไทยทุกคน ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้ร่วมมือกับ AIS Academy หน่วยงานเอกชนที่ให้ความสำคัญและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในของ AIS รวมถึงยังส่งต่อสู่สังคมไทย ภายใต้โครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” ซึ่งเป็นการนำขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญของคน AIS ไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยแก้ไขวิกฤติประชากรไทยอย่างเป็นรูปธรรม
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตประชากรของไทย ทั้งอัตราเด็กเกิดน้อยลง จำนวนวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงการคาดการณ์ว่า ปี 2579 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super-Aged Society นั้น ท้าทายการทำงานของกระทรวง พม.เป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาอัตราการเกิดที่ลดต่ำมาก และสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์กำลังจะเข้ามา ปัญหาที่ตามมาก็คือวิกฤติแรงงาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงสังคมสูงวัย ที่เราจะต้องแบกรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวง พม. ได้เร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อเป็นกำลังแรงงานให้กับประเทศ รวมถึงการเสริมพลังวัยทำงาน โดยจะต้องตั้งตัวได้ เพื่อสามารถสร้างครอบครัว และดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ ตลอดจนคำนึงถึงการพัฒนาระบบที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เอื้อให้ประชาชนมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ อันเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย
“ ปัจจุบันกระทรวง พม.ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทุกภาคส่วน เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ และสิทธิสวัสดิการของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องการให้บริการประชาชน การพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยบริหารจัดการองค์กร นำไปสู่ประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนทุกช่วงวัย เราเชื่อว่าความร่วมมือกับ AIS ภายใต้โครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” จะสะท้อนให้เห็นถึงภาพความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ในการหนุนเสริมการทำงานระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมสร้างความเท่าเทียม อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืน”
ด้าน นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า “ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS เราให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตแบบร่วมกันของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้กับคนไทยทุกกลุ่ม เพราะเราเชื่อว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงไม่ได้สร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ศักยภาพของดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาส และลดช่องว่างในการแสดงศักยภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน หรือ Digital Inclusion อีกด้วย”
ทั้งนี้ “ภารกิจ คิดเผื่อ” โดย AIS Academy เป็นโครงการที่สนับสนุนสังคมไทยให้สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในหลากหลายรูปแบบ ผ่านการร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน โดยหนึ่งในนั้นคือ กระทรวง พม. ที่ได้ทำงานร่วมกันตามเจตนารมณ์ดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เช่น AIS Academy for Thais, อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ และห้องสมุดดิจิทัล
“ การร่วมทำงานของ AIS กับ กระทรวง พม. ตั้งแต่ปี 2564 เป็นการนำศักยภาพ จุดแข็งของพนักงานและองค์กร ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาส่งต่อ แบ่งปัน ในฐานะเครื่องมือ (Solutions) ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ยกระดับขีดความสามารถประชาชนและสังคม ให้ผ่านพ้นวิกฤติประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาของแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยกลุ่มต่างๆได้อย่างตรงจุด”
สำหรับในปี 2567 นี้ AIS จะมีการเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง
1. สร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีพลังในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แม้จะมีอายุที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างกลุ่มผู้พิการ ก็จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านร่างกายและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยในปีนี้ ได้มีการดำเนินโครงการ “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” เปิดให้นิสิต นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หาไอเดียนวัตกรรมที่จะสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุและคนพิการ ผ่านกระบวนการแข่งขัน Hackathon ภายใต้โจทย์ “เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร” ซึ่งรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท และโอกาสในการร่วมงานกับ AIS ในการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงร่วมกับกระทรวง พม.
2. สร้างทักษะ ยกระดับอาชีพ ผ่านโครงการ “Train the Trainer” ซึ่งต่อยอดมาจากอุ่นใจอาสา ที่พัฒนาอาชีพที่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2564 โดย “Train the Trainer” จะเป็นการจัดฝึกอบรมจาก “โค้ชอุ่นใจอาสา” ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้แก่ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวง พม. ในลักษณะของการ Coaching เจ้าหน้าที่ถึงวิธีการและเนื้อหาความรู้ เพื่อนำไปสอนประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี “โครงการร้านนวดแผนไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่กำลังประสบภาวะวิกฤต หรือมีรายได้น้อย และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. ได้เข้ามาประกอบอาชีพ ในพื้นที่อาคารสำนักงานเอไอเอส แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ โดยเริ่มที่อาชีพนวดแผนไทย จาก กระทรวง พม. ที่รับรองมาตรฐานจากทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และโครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ Market place” เพื่อสร้างพื้นที่ในการนำความรู้จากTrain the Trainer มาประยุกต์ใช้ และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายภายใต้กระทรวง พม.
3. สร้างความรู้ เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จาก Digital Content ในรูปแบบของบทเรียน โดยพนักงานอุ่นใจอาสา เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล มุ่งสร้างรากฐานการใช้ชีวิตที่แข็งแรงในทุกมิติ ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว เช่น โครงการวัคซีนต้านภัย คนไทยแข็งแรง
และ 4. สร้างโอกาส การเข้าถึงความรู้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ “ห้องสมุดดิจิทัล ปันความรู้” ด้วย แพลตฟอร์ม AIS ReadDi ซึ่ง ห้องสมุดดิจิทัล เป็นโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและขยายโอกาสการเข้าถึงความรู้ ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล ได้แก่ โรงเรียนเพียงหลวง โรงเรียนตะเวนชายแดน รวมทั้ง สถานคุ้มครองและสถานสงเคราะห์โดยเริ่มในเขตภาคเหนือ จำนวน 40 โรงเรียน ปัจจุบันมี ผู้เข้าใช้งาน จำนวน 7,551 คน รวมถึงโครงการ “แท็บเล็ตนี้ พี่ให้น้องเรียน” ซึ่งมีการจัดหาแท็บเล็ต เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ สำหรับเด็กและเยาวชนในการอุปการะของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม.
การดำเนินงานภายใต้ “ภารกิจคิดเผื่อ” โดย AIS Academy สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 10 คือ การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (Reduce Inequalities) รวมถึง ข้อ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ ข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งพนักงาน AIS พร้อมจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ขจัดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
“ AIS Academy ขอปวารณาตัวเป็นเสมือนไม้ขีดไฟเล็กๆ ที่พร้อมจะจุดประกายการรวมพลังของสังคมในการร่วมทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จากศักยภาพของพนักงาน เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยช่องทางการเข้าถึงประชาชนมากกว่า 45 ล้านรายทั่วประเทศ ที่จะเป็นเสมือนโอกาสในการลดช่องว่าง ขจัดความเหลื่อมล้ำ อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เค้าได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการส่งต่อพลังใจไปสู่กลุ่มประชาชนที่ยังคงอยู่ในภาวะพึ่งพิง ให้ก้าวพ้นจากปัญหาวิกฤติประชากรได้ในท้ายที่สุด” นางสาวกานติมา กล่าว