บพท. ร่วม สกสว. เผยทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทิศทางการขับเคลื่อนในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยกลไกเชิงพื้นที่ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
เมื่อวันที่25-26 เมษายน 2567 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องทิศทางการขับเคลื่อนในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยกลไกเชิงพื้นที่ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
โดยระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) เป็นนโยบายการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการบูรณาการ มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจรวมถึงพื้นที่โดยรอบระเบียง และเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมทางขนส่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ควรเพิ่มเติม ของการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการวางแผนและการประสานงานร่วมกันระยะยาวระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ (Hub) ระดับภูมิภาค ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาพื้นที่หรือพื้นที่ภูมิภาคให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมเศรษฐกิจด้วยการปรับปรุงและขยายพื้นที่ให้มีความพร้อมทางทางพาณิชย์ การค้า/การลงทุน พร้อมทั้งยกระดับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและยกระดับเศรษฐกิจร่วมของพื้นที่ชายแดนที่นำไปสู่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ (Economic Connectivity) และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและทิศทางดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ระเบียงเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ (1) ระเบียงเศรษฐกิจเมืองชายแดน (2) ระเบียงเศรษฐกิจภายในประเทศ และ (3) ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย 1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC–Creative) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง 2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC–Bioeconomy) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย 3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม 4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
ในปีงบประมาณ 2567 หน่วยบริหารจัดการทุน (บพท.) ร่วมกับ สอวช. และ สกสว. ได้ดำเนินการขับเคลื่อน โดยเริ่มจากการจัดประชุมคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อวิเคราะห์ทิศทางและการประเมินพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคโดยมีกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ(ร่าง) แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ด้วย อววน. และร่างแผนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าบนระเบียงเศรษฐกิจบนฐานการเชื่อมโยงของพื้นที่
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจที่ววน.ดำเนินการอยู่ว่า “ สกสว. ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จึงได้รับมอบหมายจาก กระทรวง อว.ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบวิจัย รวมทั้ง บพท และ สอวช. ซึ่งเรียกว่า “แผนขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1) การพัฒนาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งแสริมและสนับสนุนการ พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 2) การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เชื่อมโยงภาคการผลิตเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ คุณภาพชีวิต (Well-being) และ 3) การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและระดับภูมิภาค(Connectivity)
ทิศทางการดำเนินงาน แผนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย อววน. สกสว. พร้อมประสานความร่วมมือและดำเนินการร่วมกับ Strategic Partner ทั้งในระบบ อววน. หน่วยบริหารจัดการทุน หรือ PMU และนอกระบบ อววน.(ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรมตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปสู่การยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิต/บริการของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ สร้างการเติบโตและเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน”
การนี้ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชี้แจงเพิ่มเติมถึงแนวทางการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคว่า “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้พัฒนาแผนงานย่อย “การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตเมืองชายแดน” ภายใต้แผนงาน “พัฒนาเมืองน่าอยู่ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่น และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม สู่ทุกภูมิภาคโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและยกระดับเศรษฐกิจร่วมของพื้นที่ชายแดนที่นำไปสู่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ (Economic Connectivity) และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและทิศทางดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม”
และยังกล่าวอีกว่า “ หน่วย บพท. จึงมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษบนฐานการเชื่อมโยงของพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนากลุ่มธุรกิจร่วมทางเศรษฐกิจ (Economy Clusters) ที่เหมาะสม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ซึ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจะต้องมีการเชื่อมโยงและการแบ่งปันบนความร่วมมือที่อาศัยกลไกการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ อาทิ ความรู้ เทคโนโลยี ตลาด กระบวนการ และการลงทุนร่วมกันหรือการลงทุนระหว่างพื้นที่บนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแบบมีส่วนร่วมผ่านกรอบการแข่งขันแบบกลุ่ม (Inclusive Economic Corridor Development via Competitive Clusters Framework) มีเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่อื่น ๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการสร้างความยั่งยืนด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ดีขึ้น ปรับปรุงคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความสามารถของมนุษย์ และเพิ่มความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ในโครงการพัฒนารวมถึงกระตุ้นให้เกิดปัจจัยจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการยกระดับเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ต่อไป”
การจัดงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและสะท้อนผลการศึกษา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลปัจจุบันและฉากทัศน์การพัฒนาระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในการจัดทำร่างแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ และร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ทั้ง 4 ภาค แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าบนระเบียงเศรษฐกิจบนฐานการเชื่อมโยงของพื้นที่อันมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ