วว.ระดมความคิดเห็นร่วมกำหนดบทบาทในอนาคต

News Update

วว. ระดมความคิดเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน ร่วมกำหนดบทบาทวว.ในอนาคต เพื่อให้เกิดแนวทางนำ วทน. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

              เมื่อวันที่ 30  เมษายน 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์  กรุงเทพ รศ.ดร.พาสิทธิ์  หล่อธีรพงศ์   ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิด “บทบาทการดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในอนาคต” โดยมี  ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ  วว. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุม ที่จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของ วว. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและร่วมกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบริการ และการพัฒนา วว. ภายใต้แผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2567 – 2570  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานกำกับดูแล  พันธมิตรคู่ความร่วมมือ  ลูกค้า  คู่ค้า  คู่เทียบ  ชุมชน  สังคม และสื่อมวลชน 

               รศ.ดร.พาสิทธิ์   หล่อธีรพงศ์    กล่าวว่า  กระทรวง อว.  ได้มอบหมายให้ วว. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชนและประเทศชาติ รวมทั้งเสริมให้ วว. มีบทบาทสร้างเยาวชนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทย

               ทั้งนี้ วว. มีคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (กวท.) เป็นผู้กำกับทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งมีนโยบายในช่วงปี 2567-2568 ดังนี้  1. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศ   2. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ   3.เร่งการพัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบมูลค่าสูงที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดการส่งวิเคราะห์ทดสอบต่างประเทศของผู้ประกอบการ SMEs  และ 4.ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) ที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่า สามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถที่มีเอกลักษณ์ในการแข่งขันและสร้างคุณค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

             “วว. นำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยจัดทำแผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2567-2570 ที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการพัฒนา BCG มูลค่าสูง การส่งเสริม SMEs  ภาคอุตสาหกรรม การวิจัยพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป” ประธานกรรมการฯ กล่าว

               ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  กล่าวว่า   วว. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570  ซึ่งกำหนดให้ วว. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SMEs ร่วมกับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วว. มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ ที่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนตามกรอบ ESG Framework ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลที่ดี (Governance)  ทั้งนี้ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน”

              สำหรับการดำเนินงานของ วว. ที่ผ่านมา ดร.ชุติมา  กล่าวว่ากว่า 60 ปีที่ผ่านมา วว.มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงาน ตอบโจทย์ ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศและพี่น้องประชาชน ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในทางปฏิบัติให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  สถาบันการศึกษา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ 

              ส่งผลให้ วว. เป็นองค์กรแกนหลักที่สร้าง Impact ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ในบริบทการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ  พัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการ OTOP  SMEs   วิสาหกิจชุมชน  และเกษตรกร  ผ่านการดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ เช่น โครงการ Quick win : Up-Skill  Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.   ที่สามารถเพิ่มพูนทักษะ ความรู้  ให้กับผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กว่า 1,100 คน โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน  ที่มุ่งเน้นให้เกิดอาชีพ  สร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี และขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Area based) ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่  ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ สมุนไพรและพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่  โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  ที่กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย และโครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ซึ่ง วว. และพันธมิตรได้มีการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง 

              ดร.ชุติมา  กล่าวอีกว่าปัจจัยหรือกลไกที่ทำให้  วว. ขับเคลื่อนการดำเนินงานสำเร็จและเป็นรูปธรรมคือมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม  (Innovation  Ecosystem)  และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ  โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ “วว. JUMP” ที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการให้บริการแบบ One Stop Service ออนไลน์ 24 ชั่วโมง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

              สำหรับภาพรวมมิติการทำงานของ วว. ในอนาคต ผู้ว่าการวว. กล่าวว่า จะอยู่ในบทบาทการเป็นองค์กรส่งเสริมและเป็นแกนหลักที่จะทำให้ภาคประชาชน OTOP  SMEs  ประสบผลสำเร็จทั้งในเวทีภายในประเทศและระดับสากล  โดยมุ่งนำ วทน. ไปเสริมสร้างผลิตภาพการผลิตให้ดีขึ้น สร้างนวัตกรรมตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักทางรายได้ คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนมีความเท่าเทียม และเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

                 ทั้งนี้ วว.จะมุ่งเน้นการดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย  โดยเฉพาะการวิจัยที่มี Technology Roadmap ขององค์กรเป็นตัวนำและทำต่อเนื่อง เป็นผลงานสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ 60% และฐานองค์ความรู้ 40% ซึ่งมีแนวทางที่ชัดเจนว่างานวิจัยของ วว. ต้องมีผู้นำไปใช้เกิดขึ้นให้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม และเป็น market driven มากขึ้น ต้องไม่อยู่บนหิ้ง  นอกจากนี้ วว. ให้ความสำคัญในการมุ่งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs  OTOP และประชาชน อย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ/เอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) จะเป็นกลไกสำคัญที่ วว. จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology)  และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน