อว.โดย บพข. เปิดแผน IDE ให้ทุนปั้นธุรกิจฐานนวัตกรรมให้รายได้ทะลุพันล้าน ผลักดันไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

Cover Story

               หนึ่งในกลไกสำคัญที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  หรือ สอวช.  ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายของประเทศ ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)ในการผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก็คือ การเร่งสร้าง “ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม”  ( Innovation Driven Enterprises : IDEs) ให้มากพอ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลังจากติดกับดักรายได้ปานกลางมาเกือบ 50 ปี โดยมีเป้าหมายเพิ่มผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม ที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายในปี 2570

               ทั้งนี้การจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากจะมุ่งเน้นการสร้างสตาร์ทอัพหรือผู้เล่นรายใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว  ที่สำคัญ…ยังต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถของ “ผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม” (Old Business) ที่เป็นกำลังหลักในการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดในการสร้างรายได้  โดยนำ “นวัตกรรม” มาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้แบบก้าวกระโดด

               กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จึงจัดตั้ง “ แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม(Innovation driven enterprises : IDEs ) ขนาดใหญ่” หรือเรียกสั้น ๆว่า “ แผนงาน IDE ” ขึ้น  เพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีขนาดรายได้ 100 – 1,000 ล้านบาท  และมีความมุ่งมั่นที่จะนำ “นวัตกรรม” มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ สร้างตลาดใหม่ในระดับโลก เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และยั่งยืน

                “รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์”  ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.)  กล่าวว่า  ปัจจุบันการให้ทุนวิจัยตามปกติไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน หากมีความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนา  จะมีกลไกในการสนับสนุนทุนตามแผนงานต่าง ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในการทําธุรกิจแบบดั้งเดิม  ที่สามารถก้าวไปถึงจุดทำรายได้สูงสุดได้ในระดับหนึ่งแล้ว และไม่สามารถเพิ่มการเติบโตต่อไปได้อีก จึงจำเป็นต้องหันกลับมาทํา “นวัตกรรม” เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน   

               แต่การทำนวัตกรรมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้ทันที และมีหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการอาจจะขาดมุมมองด้านนวัตกรรม หรือขาดความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรและควรทำอะไรก่อนหลัง  แม้จะมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเองได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานาน บพข.จึงออกแบบ “แผนงาน IDE”  ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว

               “ กลไกการให้ทุนของแผนงานนี้จะแตกต่างจากการให้ทุนนวัตกรรมทั่วไปที่ให้ตรงกับผู้ประกอบการหรือนักวิจัย แต่ในแผนงาน IDE จะเป็นการให้ทุนสนับสนุนผ่านคนกลางที่เรียกว่า “ Intermediary” ซึ่งเปรียบเสมือนโค้ชที่จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ว่าอะไรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทเติบโตขึ้นไปได้ มีการช่วยวางแผนยุทธศาสตร์ แนะนำวิธีดำเนินการ  ร่วมแก้ไขปัญหา รวมถึงมีเครือข่าย  และสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ IBDS (Innovation Business Development Service)  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ”

               และเนื่องจากเป็นกลไกใหม่  เพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว  ในเบื้องต้นแผนงาน IDE ของ บพข. จึงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดกลาง (M)และขนาดใหญ่ (L) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยน Mindset เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ด้วยนวัตกรรม  แต่ยังติดกับดักบางอย่างอยู่  เพียงแค่ปรับก็จะทำให้รายได้สูงขึ้นได้  

               …ปัจจุบันในแผนงานดังกล่าว มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 185 ราย และมีธุรกิจคนกลาง Intermediary ร่วมในโครงการ 37 ราย…

               รศ.ดร.ธงชัย  บอกอีกว่า   การมี Intermediary ที่เข้มแข็ง จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมมาสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เหมือนเป็น วันสต๊อป เซอร์วิส ที่มีครบในจุดเดียว ซึ่งจะช่วยเร่งให้ผู้ประกอบการสามารถไปถึงเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ คือ “ การสร้างรายได้ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเพิ่มขึ้น 20  %  ใน 3 ปี

               นอกจากจะสร้างผู้ประกอบการแล้ว ยังมีอีกธุรกิจที่น่าสนใจทั้งด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มเครือข่ายผู้ประกอบการ คือ การทำธุรกิจ  Intermediary เป็นอาชีพแบบจริงจัง ซึ่งถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย ดังนั้นการสร้าง  “Intermediary” ให้เข้มแข็งมีความรอบรู้ในทุก ๆ ด้านจึงเป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่ บพข. พยายามขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม  ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยเกิดธุรกิจ Intermediary  แบบมืออาชีพเป็นจำนวนมาก  ธุรกิจนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูง  สร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ  สามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทย

               ด้านนางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์    ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม  (Innovation driven enterprises: IDEs) ขนาดใหญ่  อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์   กล่าวว่า  แผนงาน IDE เริ่มดำเนินการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นแรกในปีงบประมาณ  2566  ปัจจุบันมีการดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น  ส่วนรุ่นที่ 3 กำลังจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 นี้   

               “ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหม่มาก จึงเหมือนเป็นแซนด์บ็อกซ์  ที่ต้องเรียนรู้และปรับปรุงสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา  ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีการตรวจติดตามประเมินผลอย่างเข้มข้นทุก 3 เดือน เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด   ทั้งนี้จากการดำเนินงานใน 2 รุ่นที่ผ่านมา  พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจครอบครัว  การมี Intermediary  เข้ามาช่วย นอกจากจะช่วยวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถพูดคุย แนะนำ และทำให้เกิดความเชื่อใจ เข้าใจกันมากขึ้นในกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ก็คือ Mindset ของบริษัทเอง ที่ต้องอยากจะเปลี่ยน มีความมั่นใจที่จะเปลี่ยน และพร้อมที่จะเปลี่ยน ”   

               นางจันทิรา กล่าวว่า  ปัจจุบันโครงการรุ่นที่ 1 ยังอยู่ในช่วงประเมินผล 9 เดือน ซึ่งยังไม่จบโครงการ แต่ก็มีตัวอย่างที่เห็นแนวโน้มของความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีความหลากหลาย ทั้งประเภทธุรกิจและมิติของพ้ื้นที่ซึ่งกระจายไปทุกภูมิภาค อย่างเช่น  ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์  ด้านอาหารที่เป็นอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) อาหารสัตว์เลี้ยง ด้านสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง  ๆ ด้านยางพารา พลาสติก โรงพยาบาล การก่อสร้าง รวมถึงบริการด้านเทคโนโลยีการจัดการและแพลตฟอร์มต่าง ๆ

               ส่วนการเปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในปีนี้  ประธานแผนงาน IDE  บอกว่า สิ่งที่พิจารณา นอกจากจะต้องเป็นบริษัทเอกชนไทยที่มีรายได้ระหว่าง 100-1000 ล้านบาทแล้ว ควรมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมแล้วและต้องการเข้าตลาด ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ไม่เหมือนธุรกิจดั้งเดิม  ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยน mindset เปลี่ยนวิธีการทําธุรกิจ หรือเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ  โดยใช้นวัตกรรมด้านกระบวนการด้านการตลาดและด้านองค์กรเข้าช่วย ทั้งนี้สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการผ่าน Intermediary หรือติดต่อ ผ่าน บพข. เพื่อเลือก matching กับ Intermediary  ที่เหมาะสมได้ 

                แผนงาน IDE นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม  ที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายในการทำงานของ บพข. ที่มุ่งเน้นเรื่องของความร่วมมือ หรือ Collaborations กับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน และตรงกับหนึ่งในภารกิจหน้าที่สำคัญของ บพข. คือ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้นวัตกรรม.