จากเป้าหมายของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดย “ แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation driven enterprises : IDEs )ขนาดใหญ่” หรือแผนงาน IDE ที่มุ่งมั่นในการยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการนำ “นวัตกรรม” มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างรายได้ทะลุ 1000 ล้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ
ทั้งนี้กลไกการให้ทุนของ “แผนงาน IDE” ที่ผ่านคนกลางหรือ “ Intermediary” ไปยังผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการให้ทุนนวัตกรรมของ บพข. เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น วันนี้…จะพาไปรู้จักกับ Intermediary รุ่นแรกที่เข้าร่วมในโครงการ อย่าง “ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ” ที่มาพร้อมกับผู้ประกอบการ “บริษัทแสงเจริญแกรนด์ จำกัด” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านผ้ารีไซเคิล และสิ่งทอยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางสุดา ยังให้ผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า โจทย์ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทางสถาบัน ฯ กำลังขับเคลื่อนอยู่ ก็คือเรื่องของ “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ความสนใจ แต่ยังติดกับปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น ใครจะเป็นผู้นำที่ทำให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ได้ หรืออยากทำนวัตกรรมแต่ไม่รู้จะเลือกอย่างไร และเมื่ออยากทำนวัตกรรมแล้วงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาจะมาจากที่ไหน ซึ่งหากให้ผู้ประกอบการไปของบจากภาครัฐเองแล้วส่วนใหญ่มองว่าค่อนข้างยาก เพราะขั้นตอนต่าง ๆ มีความซับซ้อน
“ แผนงาน IDE ของ บพข. ได้เข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งต้องขอบคุณ บพข.ที่ให้โอกาส สถาบันฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ที่เรียกว่าตัวกลาง (Intermediary) หรือเป็นโค้ชให้กับบริษัทแสงเจริญแกรนด์ รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายที่สถาบัน ฯจะไปช่วยเหลือ โดยสถาบัน ฯ เข้าไปช่วยตั้งแต่กระบวนการวางแผนธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจที่จะต้องเริ่มต้นหรือปรับทบทวน กระบวนการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การตลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรที่จะช่วยยกระดับธุรกิจให้สามารถบรรลุแนวทางหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือการสร้างรายได้ให้เติบโตสูงขึ้น 20 % ใน 3 ปี ”
นางสุดา กล่าวว่า สถาบันฯ เข้าร่วมโครงการตั้งแต่รุ่นแรกในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีการคัดเลือกในเบื้องต้นและดูแลจัดการเตรียมความพร้อมให้กับแต่ละบริษัทที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ในรุ่นแรก มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 ราย โดยเน้นที่ความหลากหลายของอุตสาหกรรม และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) รวมถึงด้านความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งถือว่าเป็นตัวนำร่องให้เห็นภาพการสนับสนุนที่ชัดเจนขึ้น และทำให้ในปีงบประมาณ 2567 มีผู้ประกอบการให้ความสนใจ มาต่อคิวรอ โดยรุ่นที่ 2 นี้ สถาบันฯ ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไปแล้วจำนวน 5 ราย ส่วนรุ่นที่ 3 ปีงบประมาณ 2568 ที่กำลังจะเปิดรับสมัครช่วงกลางปีนี้ ก็มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
“ การไปร่วมโครงการกับ บพข.ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์มาก ทั้งเป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นตัวกลาง ที่จะได้พัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็ง สามารถสร้างเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงเหมือนกับในต่างประเทศ มีเครือข่ายและขยายการให้บริการสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากสิ่งทอ ซึ่งจะสามารถไปช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มากขึ้น”
ด้านนายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นในประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมายังเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีปัญหาเรื่องต้นทุนในการแข่งขัน ทั้งค่าแรงงานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาฝีมือแรงงานจนมีฝีมือเทียบเท่า ขณะเดียวกันก็ประสบกับปัญหาค่าไฟที่สูงขึ้นจากเดิม ทำให้โรงงานที่เน้นการผลิตและใช้แรงงานคนจำนวนมาก ต้องปรับตัวในการแข่งขัน และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถมากขึ้น ซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีห้องปฏิบัติการทดสอบต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์นี้ได้ ทำให้แสงเจริญแกรนด์ ได้เข้ามาคุยกับทางสถาบันฯ และเข้าร่วมโครงการฯ ในแผนงาน IDE ของ บพข. ตั้งแต่เริ่มแรก
“ สถาบันฯ จะเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม และเชี่ยวชาญในด้านสิ่งทอต่าง ๆ ขณะที่ แสงเจริญแกรนด์ ทำโรงงาน ทำให้อาจจะเห็นด้านเดียวมาตลอด การเข้ามาคุยกับสถาบันฯ ในเรื่องนวัตกรรมต่าง ๆ ก็เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เราขาด”
นายจิรโรจน์ บอกอีกว่า สิ่งที่ได้รับจากทางโครงการฯ ไม่ใช่แค่เรื่องของนวัตกรรมที่ทางสถาบันฯมาเป็นที่ปรึกษาหรือช่วยแนะนำ แต่ยังมีการให้คำปรึกษาและบ่มเพาะในเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์หรือความรู้ที่เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องขอบคุณ บพข.และสถาบันฯ ที่ให้โอกาส แม้ว่าบริษัทจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว การมีที่ปรึกษามาช่วยแนะนำ ช่วยกำหนดกลยุทธ์ที่จะเดินไปข้างหน้านี้ เป็นเหมือนเป็นการ Grooming ให้เราชัดเจนมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นในการที่จะเดินหน้าต่อไป
สำหรับแสงเจริญแกรนด์ เป็นโรงงานผลิตผ้ารีไซเคิล ที่นำของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น อย่างเช่น เส้นด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ หรือเสื้อผ้าเก่า โดยนำของเหล่านั้น มาคัดแยกเฉดสี แล้วรีไซเคิลเป็นไฟเบอร์ใหม่ ปั่นทอเป็นเส้นด้ายเพื่อผลิตเป็นผ้าใหม่หรือเสื้อผ้าใหม่
“ โรงงานเปิดมาแล้วกว่า 50 ปี โดยรุ่นแรกที่เป็นการซื้อขายเศษด้ายเศษผ้า แบบซื้อมา-ขายไป รุ่นสองนำเศษด้ายเศษผ้า มาแปรสภาพเป็นเส้นด้าย สำหรับทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตจำนวนมาก เช่น การทอผ้าห่มที่ใช้ตามต่างจังหวัดหรือการทอเส้นด้ายที่เอาไปทำม็อบถูพื้น และรุ่นที่ 3 ที่ในช่วงปี 2563 ที่เราเห็นโอกาสเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนหรือ Sustainability ซึ่งแสงเจริญแกรนด์ ดำเนินธุรกิจโดยใช้ textile waste มาตลอด จึงมีการศึกษา วิจัยและปรับใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดการทำเป็นผ้ารีไซเคิล มีการสร้างแบรนด์และให้บริการนำเสื้อผ้าเครื่องแบบเก่าขององค์กรมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ”
สำหรับจุดแข็งของแสงเจริญแกรนด์ นายจิรโรจน์ บอกว่า ไม่ว่า Waste ของสิ่งทอจะเป็นแบบไหน ก็สามารถที่จะปรับเครื่องจักรบางอย่าง เพื่อทำให้กลายเป็นไฟเบอร์หรือเส้นด้ายที่เหมาะกับการทอผ้าชนิดต่างๆ ได้ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และมีการต่อยอดสินค้าในรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งกาย รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ นอกจากนี้บริษัทยังได้ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยการได้รับมาตรฐานการรีไซเคิล GRS ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลอีกด้วย
การที่แสงเจริญแกรนด์ทำเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการมองในระยะยาว แม้จะค่อนข้างยาก แต่ภาพชัดและสามารถทำได้จริง ทำให้เกิดการยอมรับ
ซึ่งนายจิรโรจน์ ทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่า Vision ที่ชัดเจนของแสงเจริญแกรนด์ ก็คือ การเป็น “ Hub of textile waste ในอาเซียน ”
( ขอบคุณภาพจาก https://www.thaitextile.org/ และบริษัทแสงเจริญแกรนด์ จำกัด)