“ดีป้า” ร่วมปั้น “เมืองนนท์” สู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้ากระตุ้นรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาท พร้อมพัฒนาเขตส่งเสริมเมืองน่าอยู่เมืองอัจฉริยะที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังในการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ ฝ่าฝันวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบท ประจำปี 2564 (depa Digital Transformation Fund for Community) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มขีดความสามารถและรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งปี 2564 ตั้งเป้าในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 10 ชุมชน กรอบงบประมาณรวมกว่า 2 ล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
“รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงเกษตรกร ในจังหวัดนนทบุรีและพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 1,000 ราย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) เพื่อช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มผลประกอบการ พร้อมช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19”
พร้อมกันนี้ ดีป้า ได้เตรียมขับเคลื่อน จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นเขตส่งเสริมเมืองน่าอยู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีที่อยู่อาศัยคุณภาพดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) โดยเร่งพัฒนาโครงการด้านการขนส่งสาธารณะ (Smart Mobility) แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลัก ผ่านโครงการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสายรอง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีน้ำตาล ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ Smart Bus ที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการและผู้สูงอายุ, แอปพลิเคชัน VIABUS, ระบบเทคโนโลยีเครือข่ายแบบไร้สาย (WiFi) และการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมถึงโครงการจังหวัดนนทบุรีสะอาด และโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ซึ่งนำเทคโนโลยีไพโรไลซิสและแก๊สซิฟิเคชั่นมาใช้ในการกำจัดมูลฝอยแทนระบบฝังกลบ แปรรูปขยะมูลฝอยที่มีมากกว่า 1,500 ตัน/วัน ให้กลายเป็นพลังงานและกระแสไฟฟ้า