“เพราะการทำธุรกิจไม่ได้คาดหวังเพียงแค่รายได้ แต่สิ่งที่ AIS อยากทำคือ การสร้างระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ด้วยเชื่อว่าระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยี จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้กับผู้คนในการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมายภายใต้การเปลี่ยนแปลง”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ด้วยเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางการทำงานที่จะทำให้ ESG กลายเป็นเรื่องจริง จาก 3 แกนหลักคือ Drive Digital Economy ให้เกิดขึ้น โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น Promote Digital Inclusion ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางดิจิทัล และ Act on Climate ที่หากจะทำธุรกิจ ต้องห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย
นายสมชัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา AIS ได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความแข็งแรง และมีความพร้อมมากพอที่จะเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy)
“ วันนี้ AIS สามารถที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยได้อย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ 98 % และที่เป็นเทคโนโลยี 5 จี ครอบคลุม 90 % ของพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้จากการควบรวมกิจการกับ3BB เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ AIS มีโครงข่ายไฟเบอร์ครอบคลุม13 ล้านครัวเรือน สิ่งที่ AIS ได้ลงทุนไปเป็นเงินล้านล้านบาทใน 30 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งหมดเพื่อที่จะทำให้เรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง”
…และด้วยเป้าหมายในการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ที่มีข้อจำกัดในการทำงาน เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
AIS ได้ผนึกกำลังร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาคและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ด้วยการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชนผ่านโครงการ “ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย ”
นำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล “ชุมชนบ้านดอกไม้สด” และ “ชุมชนมอโก้โพคี” ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ตั้งเป้าการทำงานร่วมกันและขยายผลต่อเนื่อง ให้ได้ 30 พื้นที่ ภายใน 5 ปี เน้นพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายสมชัย กล่าวว่า การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ ด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้
ทั้งนี้ AIS และพันธมิตร จะทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ด้าน นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รวมถึงมีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่
จึงเล็งเห็นการต่อยอดโครงการโดยการชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ GULF ในการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย”
ขณะที่ นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของ สวพส. คือ การนำความรู้ของโครงการหลวงไปพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศมีความอยู่ดีมีสุข สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนี้ สวพส. ยังช่วยให้ชุมชนบนพื้นที่สูง เข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยเฉพาะโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ GULF และ AIS ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการสื่อสาร และยังสามารถต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ หรือแม้กระทั่งการตลาด เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และยังเป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วย”
สำหรับพื้นที่นำร่อง ชุมชนมอโก้โพคี เป็นชุมชนในพื้นที่ดอยสูง ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง 50 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี นอกจากนี้การเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ทาง GULF ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน โดยสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น
การเข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และต่อยอดสู่ระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ จะสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง
ส่วน ชุมชนบ้านดอกไม้สด เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง เป็นพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้าทั้งหมด ประชากรทำไร่หมุนเวียน โดยปลูกข้าวโพดเป็นหลัก มีการใช้สารเคมีและมีการเผาเพื่อเตรียมดินปลูก ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากหมอกควัน และมีปัญหาในการเข้าถึงบริการสาธารสุขขั้นพื้นฐาน หากเจ็บป่วยต้องเดินทางไปยัง รพสต.บ้านเรกะติ ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้าน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ยิ่งในฤดูฝนแทบถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะเส้นทางเป็นดินโคลนและมีดินถล่ม ส่วนด้านการศึกษามีโรงเรียนบ้านหนองบัว สาขาบ้านดอกไม้สด ซึ่งมีบาทหลวงดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก ๆ ก่อนหน้านี้ในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เวลาติดต่อสื่อสารจะต้องมาที่โรงเรียนเพื่อใช้สัญญาณที่ไม่เสถียร ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนไม่สามารถทำอะไรได้อย่างทันท่วงที
การมีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เข้ามา ทุกอย่างก็ดีขึ้น ทั้งบริการสาธารสุขขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องพลังงานไฟฟ้าในการเก็บรักษายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และโอกาสด้านการศึกษาที่สามารถเชื่อมต่อและรู้เท่าทันโลกภายนอกได้มากขึ้น
นายสมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จะนำมาสู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”