“สาหร่าย” สิ่งมีชีวิตแห่งท้องทะเลที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งอาหารและยาแห่งอนาคต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตสาหร่ายของโลก แต่ยังติดปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ยังสูงจนแข่งขันได้ยากกับผลิตภัณฑ์อื่นที่ทดแทนได้ในตลาดโลก นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่มีอยู่ในไทย มักเป็นการผลิตเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและให้คุณค่าแบบเดิม ๆ ในขณะที่ตลาดโลกมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
“OverDaBlu” เทคสตาร์ทอัพไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายทางเลือก ที่ช่วยให้สามารถผลิต “สาหร่าย” ในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีความแตกต่างและเป็นที่ต้องการของตลาด
“ผศ.ดร.พันธุ์วงค์ คุณธนะวัฒน์” ที่ปรึกษาบริษัท OverDaBlue และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้บ่มเพาะความชื่นชอบในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างสาหร่าย จนกลายเป็นนักเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่ายในปัจจุบัน บอกว่า “ แม้ว่าการก้าวเดินเข้ามาในโลกของสาหร่ายของผม จะเริ่มจากความสนใจใคร่รู้ในธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์ แต่สุดท้ายโลกก็ค้นพบว่าสาหร่ายคือ สิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพเป็นแหล่งอาหารและยาแห่งอนาคตในโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะยากลำบาก ตนเองแม้จะไม่ชอบการทำธุรกิจ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกลับเข้ามาทำในเรื่องการแก้ปัญหาอาหารและปากท้องของผู้คน และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือของความเป็นผู้ประกอบการ ในการนำสิ่งที่ค้นพบในห้องปฏิบัติการออกไปสู่ฟาร์มและไปสู่ผู้บริโภค ”
ปัจจุบัน OverDaBlue ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายทางเลือก ซึ่งเป็น Core Technology ของบริษัท และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลินา คือ Wild Algae™ และ Wild Algae – Spirucal™
โดย Wild Algae คือผลิตภัณฑ์สาหร่ายสไปรูลินาที่ได้จากการเลี้ยงสาหร่ายในสภาพที่จำลองสภาพระบบนิเวศตามธรรมชาติของสาหร่ายในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับทางการผลิตวัตถุดิบอาหาร จากการศึกษาพบว่า Wild Algae มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สูงกว่า และมีความเป็นพิษระดับเซลล์น้อยกว่าสาหร่ายสไปรูลินาที่เลี้ยงด้วยสูตรอาหารสังเคราะห์เคมี
ส่วน Spirucal เป็นผลิตภัณฑ์ลูกของ Wild Algae ซึ่ง OverDaBlue นอกจากจะสามารถผลิต Wild Algae ได้แล้ว ยังมีเทคโนโลยีขั้นที่สองที่สามารถเลี้ยง Wild Algae ต่อเนื่องเพื่อให้สาหร่ายสะสมแร่ธาตุตามธรรมชาติแต่ในปริมาณมากขึ้น เช่น แคลเซียม Spirucal จึงเป็นผลิตภัณฑ์สาหร่ายสไปรูลินาที่มีความพิเศษตรงที่มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าสาหร่ายสไปรูลินาปกติ ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าของสาหร่ายสไปรูลินาตามธรรมชาติแล้ว ยังให้แคลเซียมในปริมาณสูง
“ จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแคลเซียมจาก Spirucal มีความสามารถในการดูดซึมโดยเข้าสู่ร่างกายได้ดีเทียบเท่ากับนม สามารถเป็นทางเลือกอาหารเสริมที่เป็นอาหารตามธรรมชาติไม่มีการดัดแปลง (whole food) ที่เป็น superfood และเป็นอาหาร vegan ผู้บริโภคสามารถรับประทานเป็นอาหารเสริมแคลเซียมโดยตรง หรือเป็นส่วนผสมในมื้ออาหารปกติ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในการบริโภคอาหาร เพื่อให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอในแต่ละวัน”
ผลิตภัณฑ์สามารถแปรรูปได้หลายรูปแบบ ทั้งอาหารเสริมพร้อมบริโภคโดยตรง เช่น เป็นเม็ดแคปซูล ขนมกรุบกรอบ หรือเป็นอาหารที่ทานคู่กับมื้ออาหารในชีวิตประจำวัน เช่น ผงโรยข้าว
ปัจจุบัน Spirucal ในฐานะวัตถุดิบจากสาหร่าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมเข้าสู่ธุรกิจแบบ B2B และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ต้นแบบแบบ B2C
ผศ.ดร.พันธุ์วงค์ กล่าวอีกว่า บริษัทเริ่มทำงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่น ในฐานะของผู้สนับสนุนทางเทคโนโลยี และ mentor เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถส่งต่อคุณค่าผลิตภัณฑ์นี้ ไปยังผู้ประกอบการที่มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของตัวเอง หรือ partnered ingredient traders เพื่อทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ OverDaBlue ยังดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบให้เป็น finished goods ต้นแบบได้เช่นกัน โดยจะมุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์แบบ wholesale ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจนำไปขายยังลูกค้าปลายทาง
ล่าสุด OverDaBlue เป็น 1 ใน 10 บริษัทสตาร์ทอัพจาก Forefood accerelator โดย Food Innopolis ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และพันธมิตร ในการนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสาหร่ายสไปรูลินา คือ Wild Algae™ และ Wild Algae – Spirucal™ ไปนำเสนอต่อผู้สนใจและนักลงทุนในงาน Thailand’s Taste of Tomorrow 2024 ณ Riverside Studios กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา
การจัดงานดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ของการนำเสนอนวัตกรรมอาหารผ่านสื่อสร้างสรรค์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการการทดสอบแพลตฟอร์มส่งเสริมการตลาดสำหรับธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในตลาดโลก” ที่ บพข. ร่วมกับ แพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจ หรือ FOREFOOD Business Acceleration Platform for Food Tech Startups & Spinoffs เมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ (ศกศอ.) หรือ International Gastronomy Tourism Centre (iGTC) คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KUSCR) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และภาคเอกชนคือหอการค้าจังหวัดจันทบุรี บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด (Greyhound Café) และ บริษัท ซิลพิน เอเชีย จำกัด (Silpin Asia Co., Ltd.) จัดทำขึ้น เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกออกสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งมุ่งสนับสนุน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารไทยเกิดการพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก.