เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้โครงการ Asian Try Zero-G 2023 ร่วมกับเยาวชนจากประเทศออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ผ่านระบบออนไลน์
ผลปรากฏว่า นางสาววรรณวลี จันทร์งาม (มุก) และนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม คว้ารางวัลชนะเลิศ Kibo-ABC Award และนายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัล Crew Award จากนักบินอวกาศขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA)
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ตามที่ สวทช. ร่วมกับแจ็กซาดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G 2023 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเข้าร่วมแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย แจ็กซาได้เลือกข้อเสนอการทดลองจำนวน 14 เรื่อง จาก 8 ประเทศ ขึ้นไปทดลองจริงในห้องทดลองคิโบ โมดูล (Kibo Module) บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดย นายซาโตชิ ฟูรูกาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2567 แจ็กซาได้จัดเวทีแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนได้ฝึกค้นคว้าข้อมูล วิเคราะห์ และสรุปผล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ในการแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติทั้งหมด 14 เรื่อง มีผลงานของเยาวชนไทยจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ การทดลองที่ 1 เรื่อง “ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้าสถิต (Water spheres and electrostatic force)” เสนอโดย นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ (ฟุง) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย การทดลองที่ 2 เรื่อง “การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Stranger things two ball on string)” เสนอโดย นายณัฐภูมิ กูลเรือน (เฟรม), นายจิรทีปต์ มะจันทร์ (ต้นกล้า), นางสาวฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล (เพียว) และนายภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ (ต้นน้ำ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และการทดลองที่ 3 เรื่อง “การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Starfish exercise for microgravity)” เสนอโดย นางสาววรรณวลี จันทร์งาม (มุก) และนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ผ่านการคัดเลือกมาจากหัวข้อการนำเสนอของเยาวชนไทยจำนวน 152 เรื่อง
“ผลการแข่งขันนำเสนอผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ น่ายินดีว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่าง ๆ คัดเลือกให้ นางสาววรรณวลี จันทร์งาม (มุก) และนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม ได้รับรางวัลชนะเลิศ Kibo-ABC Award ประเภทการทดลองท่าออกกำลังกายในอวกาศ นอกจากนี้ นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังได้รับรางวัลพิเศษ Crew Award จากการพิจารณาคัดเลือกโดยนายซาโตชิ ฟูรูกาวะ นักบินอวกาศญี่ปุ่น”
นางสาววรรณวลี จันทร์งาม (มุก) เล่าว่า ก่อนการแข่งขัน ตนเองและนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ ได้เตรียมตัวหาข้อมูลอย่างหนักเพื่อจัดทำสไลด์ ต้องดูวิดีโอการทดลองซ้ำไปซ้ำมาเยอะมาก และพยายามวาดรูปเอง เพื่อจัดทำสื่อนำเสนอให้น่าสนใจและใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมากที่สุด ซึ่งพอถึงเวลานำเสนอจริง ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ก็ได้พยายามทำให้ดีที่สุด
“พอได้ยินคณะกรรมการประกาศว่าทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศก็ดีใจมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณนักบินอวกาศญี่ปุ่นที่อธิบายผลลัพธ์ต่าง ๆ ในช่วงการทดลองบนอวกาศได้อย่างละเอียด ทำให้พวกเรานำไปสืบค้นต่อได้สะดวกมากขึ้น สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณ สวทช. และแจ็กซาที่จัดกิจกรรมดี ๆ ให้เยาวชนในหลายประเทศได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์หลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยได้เห็นและเรียนรู้มาก่อน ซึ่งเราจะนำความรู้ที่ได้มาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองต่อไป”
ด้าน นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ (ฟุง) เล่าว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัล Crew Award ตอนแรกไม่ได้คาดหวัง เพราะการนำเสนอของเพื่อน ๆ ทีมอื่นมีการวิเคราะห์ผลเชิงปริมาณ และนำเสนอกันได้ดีมาก แต่ตัวเองก็ตั้งใจทำเต็มที่ เน้นการใช้สไลด์ที่เข้าใจง่ายอธิบายถึงแนวคิดและผลการทดลองที่เกิดขึ้น
“พอทราบผลรางวัลก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่นักบินอวกาศญี่ปุ่นถูกใจหัวข้อการทดลองและการสรุปผลของเรา โดยรวมแล้วการได้เข้าร่วมกิจกรรม Asian Try Zero-G 2023 ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ทำให้ได้รับประสบการณ์ ทักษะ และความรู้ใหม่ ๆ เยอะมาก ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้น”
ติดตามโครงการ Asian Try Zero-G ได้ที่เฟซบุ๊ก NSTDA Space Education