เปิดเวที AI Thailand Hackathon 2024 – EP1 AI Cooking เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนา แข่งปรุง Corpus ภาษาไทย สร้างนวัตกรรม AI พร้อมเสิร์ฟสู่การใช้งาน
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 – ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จัดกิจกรรมแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 เปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนา, วิศวกร AI ได้มาประลองฝีมือ ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ พัฒนา AI Model ต่อยอดไปเป็นผลงานนวัตกรรม โดยใช้ชื่อว่า “Ep.1 AI Cooking” ถือเป็นครั้งแรกของการเปิดคลังข้อมูล Corpus ของเนคเทค ให้เป็นวัตถุดิบในการ Train AI Model เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลงานนวัตกรรม AI ที่สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงโอกาสได้ใช้งาน “Lanta Supercomputer” ที่มีประสิทธิภาพในการคำนวณ อันดับ 1 ในอาเซียน สำหรับ Train AI Model
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. อธิบายว่า AI Thailand Hackathon 2024 – EP1 AI Cooking แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ การแข่งขันรอบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 157 ทีม จำนวน 357 คน จากทั่วประเทศ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้การใช้งาน ‘LANTA’ Supercomputer โดย ทีมนักวิจัย ThaiSC สวทช. สำหรับใช้เทรนด์โมเดลในการแข่งขัน ซึ่งในรอบออนไลน์ผู้เข้าแข่งขันต้องพัฒนา AI Model ใน 4 โจทย์ ได้แก่ (1) Prompt Engineer (2) Image captioning (IC) (3) Machine translation (MT) และ (4) Automatic Speech Recognition (ASR) เพื่อคัดเลือก 20 ทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะต้องพัฒนาผลงาน AI-based Application ภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง
โดยเปิดโอกาสให้ทุกทีมสามารถเลือกใช้ APIs ที่พัฒนาขึ้นเองจากรอบออนไลน์ พัฒนาขึ้นใหม่ หรือ แหล่งใดก็ได้ในเวอร์ชันฟรีเท่านั้น รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เป็น Public Domain โดยระบุแหล่งที่มาและคำนึงถึงสิทธิ์การใช้งาน พร้อมสิทธิ์การใช้งาน LANTA Supercomputer ตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน โดยมีทีมนักวิจัย จากกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. เปิด Hackathon Clinic คอยดูแลช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาใน 3 ด้าน ทั้งด้านการพัฒนานวัตกรรม ด้านกลยุทธ์เชิงธุรกิจ และการนำเสนอผลงาน (Pitching) โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นระหว่างวันนี้ 21 – 23 มิถุนายน 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ AI แห่งชาติ ถึงส่วนสำคัญที่ เนคเทค สวทช. พยายามผลักดันอย่างยิ่ง นั่นคือ การเติมเต็มระบบนิเวศของการพัฒนา AI ทั้งในด้านการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานวัตกรรม AI ที่ทีมวิจัยมุ่งมั่นส่งต่อผลงานไปสู่การใช้งานจริง ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง จนมาสู่หมุดหมายสำคัญ คือ การเปิดตัวแพลตฟอร์มให้บริการปัญญาดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มรวบรวม AI Model, APIs และ AI Service สัญชาติไทย จากงานวิจัยของเนคเทค หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเปิดให้บริการฟรีแบบจำกัดปริมาณ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำทรัพยากรเหล่านี้มาสร้างนวัตกรรมได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และทรัพยากรด้าน AI ภายในประเทศ ช่วยเร่งกระบวนการสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน โดย AI for Thai เตรียมพร้อมยกระดับเป็น National AI Platform ที่ได้รับการสนับสนุนจาก GDCC ภายใต้แผนฯ AI แห่งชาติ เวทีการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 จึงเป็นความคาดหวังที่จะสร้างระบบนิเวศของพัฒนานวัตกรรม AI ในประเทศไทย ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI รวมถึงการสร้างบุคลากร/ นักพัฒนาที่มีความสามารถด้าน AI ให้เกิดขึ้นในประเทศ
สำหรับผลการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 EP.1 AI Cooking
รางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม SAM’S RIGHT EGG 70B สมาชิกในทีมประกอบด้วยนายชนัญญู ลิ้มเจริญ นายรพีพงศ์ ปิติจรูญพงศ์ นายภควัฒน์ ผาสุก ผลงานชื่อ DOCTER SAM – Healthcare Chatbot ใช้คัดกรองอาการของผู้ป่วยเบื้องต้น (pre-screaning) ว่าเข้าข่ายเป็นโรคใด รองรับเสียงพูดแบบภาษาถิ่นแปลเป็นข้อความภาษาไทย พร้อมสรุปเป็นประวัติของคนไข้ พัฒนาโดยใช้ Multi-Agent Architecture ได้แก่ Typoon 1.5x, OpenBioLLM, Thonburien Whisper (ASR Thai Dialect), Streamlit สำหรับการสร้าง Data Web Application เป็นต้น มีเป้าหมายเพื่อให้แพทย์ โรงพยาบาลรัฐขนาดเล็ก และ โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีบุคลากรทางการแพทย์น้อย ทำงานได้ง่ายขึ้น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ทีม จารย์นุชสั่งลุย สมาชิกในทีมประกอบด้วยนายปิติกร คล้ายสำเนียง นายปรินทพัฒน์ เพ็งพันธุ์ นายกนธี บุญมีประกอบ ผลงานชื่อ Sawasdee – a language-agnostic AI-driven app ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยการนำเสนอประสบการณ์ที่ผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลายและปรับแต่งตามบุคคล สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการเดินทางอย่างยั่งยืน ผ่านการประมวลผลภาษาขั้นสูง เนื้อหาที่คัดสรรตามความต้องการ และการวางแผนการเดินทางอัจฉริยะ โดยใช้ PhuKhao LLM ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับทุกโดเมน อีกทั้งยัง AI Agent System สำหรับการท่องเที่ยวที่ยืดหยุ่น ซึ่งประกอบด้วยโมเดลต่างๆ ที่โต้ตอบซึ่งกันและกัน ช่วยให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีประสิทธิภาพและง่ายดายยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมประสบการณ์นอกเส้นทางท่องเที่ยวทั่วไป เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ขายท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการมองเห็นให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ทีม RESULT สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายศิวกร วังวล นางสาวฌิณญา วงค์ใหญ่ นายอัษฎาวุธ สุรินรังสี ผลงานชื่อ SAFECALL SAFEGUARDING SENIORS FROM SCAM CALLS การแก้ไขปัญหา Call Center หลอกลวงสำหรับผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี ASR และ LLM เมื่อมีสายเรียกเข้าจากเบอร์ไม่รู้จัก SafeCall จะแปลงเสียงเป็นข้อความ (ASR) เพื่อถอดเสียงเรียก และใช้ Large Language Model (LLM) ตรวจจับรูปแบบการหลอกลวงแบบเรียลไทม์ พร้อมแจ้งเตือนทันทีผ่านการสั่นโทรศัพท์ และ เสียงเตือน
ทั้งนี้ AI Thailand Hackathon 2024 เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรร่วมจัดกิจกรรม ได้แก่ กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท AI9 จำกัด, บริษัท BIGGO Analytic จำกัด, บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด หรือ ZTRUS และ บริษัท โอบี โอเอ็น คอร์เปอเรชั่น จำกัด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://ai.in.th/ Facebook AI Thailand Community