ครั้งแรกในไทย บพข. หนุนตลาดคาร์บอนครัวเรือน จูงใจประชาชนใช้พลังงานสะอาดด้วยการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าและบริการ

Cover Story นวัตกรรมยั่งยืน

                 ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จากที่เคยเรียกกันว่า “โลกร้อน”  กลายมาเป็น “โลกเดือด” ซึ่งทราบกันดีว่าตัวการสำคัญในการก่อปัญหานี้  ก็คือ ก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

                 ทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและนานาประเทศต่างก็ตระหนัก และร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดต่างๆ  ทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

                 ล่าสุด…กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กลุ่มเซ็นทรัล และ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการวิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”  ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้พลังงานสะอาดอย่างเช่น “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) ในภาคครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน    

                 ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี  เหลืองนฤมิตชัย  ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานให้ทุน  โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์พลังงานสะอาด พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-GreenEconomy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

                  ทั้งนี้จะมีการพัฒนา  “แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ”  ขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครัวเรือนในภาคสมัครใจ ซึ่งมีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้ T-VER มาตรฐานประเทศไทย

                 แพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถติดตามข้อมูลการผลิตพลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  รวมถึงสามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการของภาคธุรกิจที่เข้าร่วม  การจัดทำระบบนิเวศของแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เช่น ภาคครัวเรือนต้องการผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน ภาคธุรกิจต้องการปริมาณคาร์บอน  เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในการดำเนินธุรกิจ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจในการทำธุรกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

                 ดร.สุวิทย์  ธรณินทร์พานิช  ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มในการติดตามการผลิตพลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งเน้นครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell ก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมากและมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน

                 “แพลตฟอร์ม ฯ ที่จะพัฒนาขึ้นจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคครัวเรือน ที่มีช่องทางการสร้างรายได้จากการใช้พลังงานสะอาด หรือสามารถแลกเป็นสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น   ส่วนภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิต หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น  ขณะที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนแบบภาคสมัครใจให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ  ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย”  

                 รองศาสตราจารย์ วงกต  วงศ์อภัย  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า สถาบันฯ เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของประเทศไทย ได้ดำเนินการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานต่างๆ เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า คาร์บอนเครดิต  ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น 6 ขั้นตอน คือ 1.การจัดทำเอกสาร 2. การตรวจสอบเอกสาร หรือ Validation 3. การขึ้นทะเบียนโครงการ Solar ดังกล่าวกับ อบก.   4. การดำเนินการโครงการพร้อมการตรวจวัดต่างๆ 5. การจัดทำเอกสารขอทวนสอบผลคาร์บอนเครดิตที่ได้ ก่อนที่จะนำไปยื่น และ 6.  ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากทาง อบก.ในท้ายที่สุด

               ทั้งนี้การตรวจสอบเอกสารและทวนสอบต่าง ๆ ถือเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ประเทศต้องการ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอนาคต

               นายพิชัย จิราธิวัฒน์   กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล   กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความต้องการคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions  และกระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมากและทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกัน   โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ กลุ่มเซ็นทรัล จึงมีความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยในการจัดกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ  โดยผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำ Carbon Credit 1 ตันคาร์บอน มาแลกเป็นคะแนน The 1 ได้ 1,600 คะแนน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดสินค้าและบริการ รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ

               “กลุ่มเซ็นทรัลมีความมุ่งหวังการเติบโตของธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และตระหนักว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทานตลอดจนถึงปลายทางของการจัดการอย่างถูกหลัก โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก” 

               ขณะที่ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาฯ ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่เริ่มสร้างบ้านพร้อมติดโซลาร์รูฟให้พร้อมใช้งานตั้งแต่ซื้อบ้านทั้งโครงการเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะนั้นมองว่าการใช้พลังงานทดแทนคือเทรนด์ของอนาคต ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกบ้านแล้ว ยังลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

               สิ่งที่เสนาฯ ให้ความสำคัญคือ การพัฒนาโครงการและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้พลังงานทดแทนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกบ้าน  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนขององค์กร โดยเฉพาะการนำแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Housing) ซึ่งสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านได้สูงสุดถึง 38 % และการส่งเสริม Decarbonized Lifestyle ให้ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่ายๆ เพียงอยู่กับเราเท่านั้น

               ปัจจุบันเสนาฯติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมแล้วทั้งหมดทุกโครงการรวมกว่า 1,000 หลัง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ลูกบ้านเสนาที่ติดโซลาร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของต่อไปได้ เช่น ลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ 5 kw คาร์บอนเครดิตจะถูกคำนวณและสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ได้ 600 คะแนนต่อเดือน หรือ 7,200 คะแนนต่อปี  เบื้องต้นตั้งเป้ามีลูกบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 300 หลังคาเรือน

               โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ทำให้เกิดตลาดคาร์บอนเครดิตภาคครัวเรือนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำโดย ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคครัวเรือนที่ติด Solar Cell ที่บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังได้รับคะแนน The 1 มาใช้ฟรี ๆ ด้วย เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญ ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับภาคครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar cell เพื่อส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำ Carbon Credit ที่ผลิตได้จาก Solar cell และได้รับการรับรองมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย มาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการได้ด้วย