“ศุภมาส” เตรียมคิกออฟนโยบาย “อว. for Economic Corridors” หนุนขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทยใน 4 ภูมิภาค
1 กรกฎาคม 2567 – นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงการเตรียมนโยบาย อว. for Economic Corridors ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อรองรับการขับเคลื่อนงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในระดับภูมิภาค ผ่านการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 มิติหลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะกระตุ้นความสามารถในการสร้างสินค้าและบริการ ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งเกิดการจ้างงาน และการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ ด้านคุณภาพชีวิต กับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และด้านการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ที่จะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดพร้อมทั้งเกิดผู้ประกอบการเป้าหมายฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการท้องถิ่น จำนวน 2,000 ราย และนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในพื้นที่ จำนวน 3,000 คน ภายในปี 2570 ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงแผนการใช้กลไกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ว่า ตามที่ตนได้แถลงวิสัยทัศน์และประกาศเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 3 ด้านในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ แผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ และแผนพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบัน อว. ยังได้เตรียม “Kick off อว. for Economic Corridors” เพื่อเตรียมประกาศนโยบาย อว. กับการขับเคลื่อนงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่กระทรวง อว. จะวางแผนร่วมกันในการขับเคลื่อนและรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย ด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะมีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้
โดยเป้าหมายสำคัญที่จะเกิดจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตามบทบาทของ กระทรวง อว. ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1. ด้านพัฒนาเศรษฐกิจ กับการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ กระตุ้นความสามารถในการสร้างสินค้าและบริการ ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิดการจ้างงาน และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น
• อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ / ดิจิทัล / เกษตรและอาหาร / ท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ในภาคเหนือ
• อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในภาคกลาง-ตะวันตก
• อุตสาหกรรมชีวภาพ และ เกษตรและอาหาร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
• อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ชีวภาพ ท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ในภาคใต้
2. ด้านคุณภาพชีวิต ใช้ระบบนิเวศนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้แก่ มหาวิทยาลัย และสถาบันทางวิชาการ อุทยานวิทยาศาสตร์ ต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ
3. ด้านการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ โดยกระทรวง อว. มีแผนที่จะพัฒนากำลังคน ด้านสมรรถนะทางความรู้ ความสามารถ และทักษะขั้นสูง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ ทั้งบุคลากร ผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเกิด
• ผู้ประกอบการเป้าหมายฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการท้องถิ่น จำนวน 2,000 ราย ภายในปี 2570
• นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในพื้นที่ จำนวน 3,000 คน ภายในปี 2570
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เกิดจากการประสานความร่วมมือกันของหน่วยงานหลายภาคส่วนภายใต้กระทรวง อว. อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) อุทยานวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิต บริการของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ สร้างการเติบโต และเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นไปอย่างยั่งยืน
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อครั้งประชุมวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ใน 4 ภาค กระทรวง อว. โดย สกสว. ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในองค์ประกอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม นับเป็นครั้งแรกที่นโยบายประเทศมุ่งให้บทบาทสำคัญกับการใช้ข้อมูล องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี กระทรวง อว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยสร้างผลกระทบที่สำคัญของประเทศต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่ม GPP ของจังหวัดอย่างก้าวกระโดด เกิดการจ้างงานและการลงทุนในพื้นที่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป