นักวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ NSM ร่วมค้นพบ “ดอกดินเขาหินปูน” พืชวงศ์ขิงข่าชนิดใหม่ของโลก พบเฉพาะที่รอยต่อ ขอนแก่น – ชัยภูมิ เสี่ยงสูญพันธุ์ เร่งศึกษาต่อยอดอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า นักวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ NSM ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา NSM ร่วมกับ คณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบ “ดอกดินเขาหินปูน” ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia calcicola Noppornch. พืชสกุลเปราะหอม วงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ชนิดใหม่ของโลก บริเวณพื้นที่รอยต่อของจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ ประเทศไทย จัดเป็นพืชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เตรียมดำเนินการศึกษาวิจัยต่อยอดด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
ผอ.NSM กล่าวต่อว่า “NSM มีหน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในสังคม โดยการนำงานศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ รวมทั้งใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการ และใช้สำหรับการศึกษา วิจัย ให้กับบุคลทั่วไปได้เรียนรู้ ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ไปสู่ระดับสากล รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้และการเชื่อมโยงสู่ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการค้นพบของนักวิจัย NSM ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพืชพรรณและความสำคัญของระบบนิเวศเขาหินปูนที่กำลังถูกคุมคามอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และความสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและอนุกรมวิธานพืชในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยพื้นฐานสามารถพัฒนาต่อยอดในหลายสาขารวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้”
ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ NSM เผยว่า “ดอกดินเขาหินปูนถูกค้นพบครั้งแรกบริเวณยอดเขาและหน้าผาของภูเขาหินปูนในเดือนพฤษภาคม 2566 ดอกของพืชดังกล่าวมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่แปลกตา โดยมีเยื่อเหนืออับเรณู (anther crest) ขนาดใหญ่และโดดเด่น ต่างจากดอกดินสกุลเปราะ สกุลย่อยโพรแทนเธียมทุกชนิดที่รู้จักมาก่อน โดยต่อมาได้ลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อศึกษาลักษณะของลำต้นเทียมและใบในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ และนำตัวอย่างพืชมาทำการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านเซลล์พันธุศาสตร์ ขนาดจีโนม และลักษณะทางสัณฐานวิทยาอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อชี้แจงความชัดเจนในการระบุขอบเขตของชนิดและสถานะทางอนุกรมวิธาน จากหลักฐานทางเซลล์พันธุศาสตร์ร่วมกับลักษณะทางสัณฐานวิทยา เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ดอกดินเขาหินปูน” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และเป็นดอกดินสกุลเปราะ สกุลย่อยโพรแทนเธียมชนิดที่ 15 ของประเทศไทย จาก 16 ชนิดทั่วโลก”
สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. (กองทุน ววน.) และถูกเผยแพร่ผ่านบทความทางวิชาการเรื่อง Cytotaxonomy of Kaempferia subg. Protanthium (Zingiberaceae) supports a new limestone species endemic to Thailand ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Willdenowia (Q1) ประเทศเยอรมัน ฉบับที่ 54 หน้า 121–149 วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นี้