สดร.จัดการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 10 เผยเผยผลลัพธ์ตลอด 10 ปี ปั้นยุววิจัยไทยสร้างโครงงานดาราศาสตร์มาแล้วกว่า 700 เรื่อง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 10 (TACs2024) เปิดเวทีนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีเยาวชนไทยและต่างประเทศร่วมนำเสนอกว่า 70 ผลงาน เผยผลลัพธ์ตลอด 10 ปี ปั้นยุววิจัยไทยสร้างโครงงานดาราศาสตร์มาแล้วกว่า 700 เรื่อง ยกระดับมาตรฐานงานวิจัยระดับโรงเรียน สร้างเครือข่ายการเรียนรู้อันเข้มแข็ง และปลูกฝังกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ให้หยั่งรากลึกในประเทศ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สดร. จัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) เปิดให้เยาวชน ทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยระดับโรงเรียน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ปีนี้มีเยาวชนจากทุกภูมิภาคของไทย และต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ร่วมนำเสนอผลงานรวมทั้งสิ้น 69 โครงงาน คัดเลือกจากทั้งหมดที่ส่งเข้าร่วมกว่า 127 ผลงาน แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานรูปแบบบรรยาย 39 โครงงาน และแบบโปสเตอร์ 26 โครงงาน ภายใต้หัวข้อหลัก 6 ประเภท ได้แก่ 1) ดวงอาทิตย์ 2) ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3) ดาวฤกษ์ และกระจุกดาว 4) สสารระหว่างดาว กาแล็กซี และเอกภพวิทยา 5) ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ 6) อุปกรณ์-โปรแกรมทางดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ และ 7) ดาราศาสตร์โบราณคดี และดาราศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์
ผลงานที่นำเสนอส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของครูและนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ภายในงานมีนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ร่วมรับฟังพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัย อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ ให้เกิดยุววิจัยรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับเยาวชน ซึ่งจะก้าวสู่เครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต นอกจากยุววิจัย ครุวิจัยที่มาร่วมนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ สดร. ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานและกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย
โครงงานดาราศาสตร์ที่มีความโดดเด่น จะได้รับเหรียญรางวัล แบ่งเป็นประเภท เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง คัดเลือกจากคณะกรรมการ โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ความสามารถในการนำเสนอผลงาน ความเข้าใจในเนื้อหาของผู้บรรยาย ความพยายาม ความถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความแปลกใหม่ของตัวงาน
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ เราเห็นถึงความพยายาม และความสามารถของเหล่ายุววิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงคุณครูผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้นักเรียนสนใจทำโครงงานดาราศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 10 ปีนี้ มียุววิจัยจากทั่วประเทศร่วมนำเสนอผลงานผ่านเวทีนี้รวมแล้วกว่า 700 ผลงาน สดร. หวังว่าเวทีนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุววิจัย และครุวิจัย ให้พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเยาวชนเหล่านี้ เพื่อต่อยอดขยายผล และพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ให้กับประเทศไทยต่อไป
การจัดงานในครั้งนี้ มีโครงงานที่ได้รางวัลเหรียญทอง จำนวน 11 โครงงาน เหรียญเงิน จำนวน 7 โครงงาน และเหรียญทองแดง จำนวน 12 โครงงาน และเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปีนี้จึงพิจารณามอบรางวัลเพิ่มเติมให้กับเยาวชนที่ร่วมนำเสนอผลงานรูปแบบโปสเตอร์ รวมถึงมอบเข็มเกียรติยศให้แก่ครูแกนนำดาราศาสตร์ จำนวน 36 ท่าน ที่ผ่านโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. และเป็นครูที่ปรึกษาให้กับโครงงานของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอในการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้
ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาในปีนี้ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 ของการจัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์สำหรับเยาวชน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การทำโครงงานดาราศาสตร์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะการทำโครงงานฯ ไม่เพียงแต่จะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหาความสนใจด้านดาราศาสตร์ของตัวเองเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้รู้จักการวางแผน การค้นคว้าหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือทักษะการตั้งคำถาม
สำหรับการนำเสนอในปีนี้ การทำโครงงานมีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ เราได้เห็นโครงงานที่ใช้ทักษะในการศึกษาวิจัยที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านดาราศาสตร์เชิงฟิสิกส์ภาคทฤษฎี โบราณคดีดาราศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือสิ่งประดิษฐ์ แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุด คือการที่นักเรียนผู้เข้าร่วมงานประชุมมีข้อสงสัย และกล้าที่จะตั้งคำถามกับผลงานวิจัยกันอย่างคึกคัก ซึ่งนับเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของชาติ “การที่เราสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วคนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ก็คือคนที่รู้จักที่จะตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ” ดร. มติพล กล่าวในตอนท้ายของการประชุม
งานประชุมฯ ดังกล่าว ยังจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ถอดรหัสเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่คุณยังไม่รู้ กับความรู้จริงทางวิทยาศาสตร์ ของมลพิษทางอากาศในไทย ” โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนทั่วไป มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน
การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) จัดขึ้นปีละครั้ง เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเสอผลงานการวิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ทางดาราศาสตร์ รับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และต่อยอดงานวิจัยสู่ระดับสากลสำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมในครั้งถัดไป ติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.narit.or.th