เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเคยทำ เมื่อสงสัยอาการเจ็บ ป่วย ของตนเอง ก็มักจะเสริชหา ‘โรค’ นั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล และวิธีการรักษาเบื้องต้น แต่น้อยครั้งนักที่ผลลัพธ์จากการค้นหาเหล่านั้นจะถูกต้อง 100% กลับกันยังส่งผลต่อความวิตกกังวลด้วยซ้ำไป เพราะข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมักจะมาจากหลากหลายแหล่ง อีกทั้งเป็นข้อมูลในวงกว้างไม่สามารถไขปริศนาที่คาใจเหล่านั้นได้ จนผลสุดท้ายกลายเป็นว่าต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยความไม่จำเป็นนัก
จึงเป็นเหตุผลให้ “แอ็กนอส (Agnos)” แอพพลิเคชั่นที่วิเคราะห์โรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดช่วยไขคำถามที่ค้างคาใจผ่านการประมวลผลด้วยเอไอที่เชื่อถือได้อย่างดีเลยทีเดียว การันตีฝีไม้ลายมือจากรางวัลชนะเลิศโครงการ Open Innovation Challenges for ‘Greater Accessibility’ จาก Roche รองชนะเลิศอันดับ 1 OIC Insurtech Award 2020 อีกทั้งโครงการ Startup Thailand League ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวง อว. และอื่นๆ อีกมากมาย
ปาลิตา วิษณุโยธิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด กล่าวว่า แอ็กนอส (Agnos) เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยมากขึ้น โดยใช้ระบบเอไอ เข้ามาช่วยวิเคราะห์อาการและความเสี่ยงส่วนบุคคล ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นผลจากโรคใดได้บ้าง และแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบว่ากรณีใดที่ควรพบแพทย์ แต่หากอาการไม่รุนแรงระบบจะให้ข้อมูลการดูแลตนเอง รวมทั้งแนะนำแหล่งจำหน่ายยาที่มีมาตรฐานโดยเภสัชกร จึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ขณะเดียวก็เป็นการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของบุคลากรการแพทย์และลดความแออัดในสถานพยาบาล
ซึ่งโซลูชั่นนี้พัฒนาโดยทีมแพทย์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับทำการทดสอบร่วมกับสถานพยาบาล มีความแม่นยำประมาณ 80-90% โดยผู้ใช้สามารถใส่อาการเบื้องต้น พร้อมข้อมูลความเสี่ยงส่วนบุคคล ระบบจะทำการซักประวัติเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด ดังนั้นแอ็กนอสจึงมีผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำ โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแพทย์ ผ่านคำแนะนำที่เข้าใจง่ายปฏิบัติตามได้ทันที และให้คำแนะนำผู้ใช้งานว่าควรเข้าพบแพทย์เพิ่มเติมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินที่ช่วยให้ทราบถึงความอันตรายของอาการ เพื่อเข้ารับการตรวจจากแพทย์ได้ทันเวลา
ทั้งนี้ ‘Agnos’ เป็นโซลูชั่นที่ช่วยวิเคราะห์โรค, คัดกรอง และให้คำแนะนำผู้ป่วย โดยใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาจากข้อมูลความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยระบบมี 3 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ป่วยเพียงกรอกอาการเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้ 2. แอพพลิเคชั่นจะซักประวัติอาการเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์อาการของผู้ป่วย ซึ่งจะรวมถึงอาการที่ไม่ได้กรอกมาในขั้นต้น เพื่อวิเคราะห์อาการของโรคที่มีความน่าจะเป็นสูงสุด ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ การซักประวัติจะใช้เวลาประมาณ 3-5 นาทีต่อเคส และ 3. เมื่อสิ้นสุดการซักประวัติ แอพพลิเคชั่นจะให้ผลการวิเคราะห์ความน่าจะเป็น ในแต่ละโรค เช่น อาหารเป็นพิษ 75%, นิ่วในถุงน้ำดี 15%, ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน 8%, ตับอ่อนอักเสบ 2% พร้อมทั้งอาการเฉพาะ สาเหตุการเกิดโรค รวมไปถึงวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นอีกด้วย ปัจจุบันโปรแกรมแอ็กนอสสามารถวิเคราะห์โรคได้มากกว่า 150 โรค โดยส่วนใหญ่เป็นโรคพื้นฐานที่มักพบในประเทศไทย
กลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย คือ กลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-50 ปี ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบไม่มีเวลาไปพบแพทย์ และต้องดูแลสุขภาพครอบครัว รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยจะเน้นที่กลุ่มคนที่มักจะค้นหาข้อมูลสุขภาพทางอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง และ คนในครอบครัวอยู่เสมอ แต่ก็ไม่สามารถตอบปัญหาอาการที่มีได้ เนื่องจากข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตนั้นกว้างเกินไป ซึ่งในหลายๆโรคนั้น มีอาการที่คล้ายคลึงกัน และในแต่ละโรคนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล จึงทำให้ไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นโรคอะไร และควร ดูแลตัวเองอย่างไร จึงเป็นเหตุทำให้สูญเสียเวลาไปกับการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกันแอ็กนอสเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดด้านสุขภาพ คอยให้ความรู้ คำแนะนำเบื้องต้น กับผู้ใช้งาน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงนี้ ให้บริการปรึกษากับแพทย์ฟรีหลังใช้บริการแอพพลิเคชันอีกด้วย ขณะเดียวกันล่าสุดได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ตรวจอาการเช็คความเสี่ยงโควิด ที่จะบอกถึงระดับความใกล้เคียงของอาการ กับโรคโควิด-19 และ ระดับความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ ทำให้ผู้ใช้งานได้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำกว่าที่เคย
ปัจจุบันแอ็กนอสมียอดดาวน์โหลด มากกว่า 1 พันดาวน์โหลด หลังจากเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือน ทั้งนี้สามารถใช้งานได้บนแอนดรอยด์และไอโอเอส ทุกพื้นที่ประเทศไทย ส่วนการเชื่อมต่อร้านขายยานั้นยังครอบคลุมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในอนาคตจะมีการขยายโลเคชั่นเพิ่มมากขึ้น
ส่วนโรดแมพทางธุรกิจที่วางไว้คือ ภายใน 3 ปี วางแผนจะเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลและร้านยา ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็น one-stop service สำหรับบริการทางการแพทย์ของไทย และภายใน 5 ปี ตั้งเป้าที่จะขยายผลการใช้งานไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยมีข้อจำกัดในด้านการให้บริการสาธารณสุขใกล้เคียงกัน