ไทยจับมือสเปน พัฒนานาศักยภาพนาโนเทคโนโลยี เพื่ออนาคตด้านการแพทย์-สุขภาพ-ความเป็นอยู่ที่ดี

News Update

ไทย-สเปน กระชับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการพัฒนานาศักยภาพของนาโนเทคโนโลยี เพื่ออนาคตด้านสุขภาพ การแพทย์ และความเป็นอยู่ที่ดี

               เมื่อวันที่  12 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย และ CDTI-Ministry of Science, Innovation and Universities ประเทศสเปน จัดงาน Spain-Thailand Innovation Forum ภายใต้หัวข้อ “Harnessing the potential of Nanotechnology: Future Health, Personalized Medicine & Wellbeing” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีแห่งอนาคตทางด้านสุขภาพ การแพทย์เฉพาะบุคคล และความเป็นอยู่ที่ดี   งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องบอลรูม A ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน  โดยได้รับเกียรติจาก นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย และ นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ร่วมเปิดงาน

               สำหรับงานประชุมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-สเปนครั้งนี้ ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้นำในแวดวงสุขภาพและนาโนศาสตร์จากทั้งสองประเทศ เพื่อแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สร้างความร่วมมือทางวิชาการและนวัตกรรม รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยมีคณะผู้แทนจากสเปน 11 ท่าน ซึ่งล้วนมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านต่างๆ ทั้งการวินิจฉัยโรคระดับนาโน วัสดุนาโนชีวการแพทย์ การนำส่งยาในระดับนาโน ไปจนถึงการใช้อนุภาคนาโนเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ด้วย โดยได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย และ CDTI ซึ่งเป็นหน่วยงานนวัตกรรมแห่งชาติของสเปน

               ในงานมีเวทีเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากแวดวงการศึกษาและธุรกิจของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของวงการสุขภาพ และโอกาสในการทำงานร่วมกัน โดยเน้นที่ผลกระทบของนาโนเทคโนโลยีต่อการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในด้านประโยชน์และความท้าทายที่สำคัญ  และในช่วงบ่ายยังมีhighlight สำคัญคือกิจกรรม B2B (Business-to-Business) และ R2B (Research-to-Business) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนและสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศสเปนและประเทศไทยกว่า 15 แห่ง ได้เข้าร่วม Pitching นำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาทางด้าน Nano Medicine เพื่อหาพันธมิตรและทุนสนับสนุนในการพัฒนาธุรกิจ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ ของศูนย์วิจัยและผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ บพข. และ CDTI ในการร่วมกันจัดงานครั้งนี้

               นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า “กระทรวง อว. ได้ร่วมกับ Ministry of Science, Innovation and Universities ประเทศสเปน จัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่าย ส่งเสริมการพัฒนนาเทคโนโลยีในสาขานาโนเวชศาสตร์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งงานนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนทุนจาก CDTI ของสเปน และ บพข. ของไทยอีกด้วย งานนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมระหว่างองค์กรไทยและสเปน”

               นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด  ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างไทยและสเปนว่า  “ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สเปนและไทยได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในด้านนวัตกรรม โดยมีการประสานงานที่ร่วมกันระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ของทั้งสองประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง บพข. (ประเทศไทย) และ CDTI (สเปน) ซึ่งได้มีการทำหนังสือแสดงเจตจำนงในปี 2565 นำไปสู่การจัดงานสำคัญหลายครั้ง อาทิ การประชุมครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตอาหาร และการสัมมนาในวันนี้ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการแพทย์และนาโนเทคโนโลยี กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในแผนปฏิบัติการร่วมของเราสำหรับปี 2567-2569 ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ สุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตร เศรษฐกิจหมุนเวียน และพลังงานสะอาด”

ความร่วมมือไทย-สเปนด้านการวิจัยและนวัตกรรม

               ความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างไทยและสเปนกำลังก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือของ บพข. กระทรวง อว. ของไทย และ CDTI สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและมหาวิทยาลัยของสเปน ซึ่งได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันเมื่อปี 2565 และวางแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับปี 2567-2569 นำไปสู่โครงการริเริ่ม ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ บพข. และ CDTI ยังมุ่งมั่นที่จะเจรจาบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อจัดตั้งกลไกการระดมทุนร่วม ส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและพันธมิตรทางเทคโนโลยีระหว่างไทยและสเปนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

               ทั้งนี้โครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมกันโดย บพข. และ CDTI กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท COPSEMAR ของสเปน และสถาบันวิจัย ICTAN/CSIC ร่วมมือกัน นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความร่วมมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านต่างๆ เช่น การค้นพบยาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เทคโนโลยีสะอาด และเทคโนโลยีสุขภาพ ขณะที่มหาวิทยาลัยในไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมกับสเปนในด้านนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์และความปลอดภัยด้านอาหารด้วย

               ภายในระยะเวลาไม่ถึง 7 เดือน ไทยและสเปนได้ร่วมมือกันจัดการประชุมนวัตกรรมระดับสูง 2 ครั้ง เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกในด้านต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ได้แก่ ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ และล่าสุดในด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ยาเฉพาะบุคคล และความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต การประชุมทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จในการดึงดูดคณะผู้แทนจากสเปนที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนารวมถึงผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน จาก 10 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ของไทยให้เข้าร่วม

                รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์   ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. มุ่งมั่นที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผ่านการผสานความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ โครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และความร่วมมือในระดับสากล จากความร่วมมือของ บพข. และ CDTI ในครั้งนี้ เราได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาด้านสุขภาพและนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

               นายคาลอส เด ลา ครู รูซ   ผู้อำนวยการ CDTI ประเทศสเปน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา CDTI ได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินลงทุนในการสร้างธุรกิจและเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาแก่บริษัทสัญชาติสเปนมากกว่า 13,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 16,300 ล้านยูโร ความร่วมมือของ CDTI และ บพข. กับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและสเปน ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกัน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ ตลาด และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ”

               ทั้งสองประเทศคาดหวังว่าผลลัพธ์จากการจัดงานครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันที่แข็งแกร่งขึ้น ระหว่างสถาบันและบริษัทของไทยและสเปน โดยมีการริเริ่มโครงการใหม่ที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน จากการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างกลุ่มผู้พัฒนานาโนเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการปฏิวัติวงการนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยเพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของประเทศต่อไป