สกสว. หนุนกองทุน ววน. เสริมความโดดเด่นงานปฎิบัติการเคมี – ศูนย์ทดลอง – สาธารณสุข

News Update

สกสว. หนุนกองทุน ววน. เสริมความโดดเด่นงานปฎิบัติการเคมี – ศูนย์ทดลอง – สาธารณสุข  “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” พร้อมมุ่งยกระดับ 6 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อการประเมินศักยภาพของหน่วยงาน (Past Performance) ตามที่ได้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และตอบโจทย์ของประเทศ ทั้งการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี งานวิจัยพัฒนายาเคมีรักษาโรคมะเร็ง โดยบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย พร้อมเยี่ยมชมผลงานเด่นและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน.   

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร รองผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแลกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. กล่าวว่า ภาพรวมของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุน ววน. ที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมอธิบายถึงโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นโครงการด้านการลงทุน สำหรับการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตและบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อไปในอนาคต

ศ.เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ กล่าวถึง การดำเนินงานด้านการวิจัย ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จะมีการกำหนดพื้นที่การวิจัยที่มีความสำคัญ (Priority Research Areas) ที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญของประเทศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัย 9 ห้อง ศูนย์เฉพาะกิจ 3 ศูนย์ และสำนักงานสำนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยดำเนินงานวิจัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเคมี ด้านชีวการแพทย์ และด้านพิษวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมมีโครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ คือ การศึกษาวิจัยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี งานวิจัยพัฒนายาเคมีรักษาโรคมะเร็ง โดยบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัย การใช้ประโยชน์งานวิจัยโดยศูนย์เฉพาะกิจ ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ ศูนย์สัตว์ทดลอง รวมทั้งมีสำนักงานสำนักวิจัย และศูนย์สัตว์ทดลอง ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน

ขณะที่ ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภากุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลการรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของหน่วยงาน และแนวทางการติดตามและประเมินผลหน่วยรับงบประมาณจากกองทุน ววน. การประเมินศักยภาพของหน่วยงาน (Past Performance) และแลกเปลี่ยนเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ก่อนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานเด่นและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ดังนี้

1. ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชเคมี ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยที่ไม่เพียงแต่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังสามารถตอบสนองต่อความท้าทายและความเร่งด่วนของปัญหาสาธารณสุขได้ โดยงานวิจัยที่ทางห้องปฏิบัติการฯ ให้ความสำคัญแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ 1. การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ 2. การสังเคราะห์สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ 3. การประยุกต์ใช้เคมีคำนวณในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารและการศึกษากลไกของปฏิกิริยา 4. การประมวลผลทางเภสัชกรรมและความเป็นพิษของสาร  5. การพัฒนาการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในระดับกิโลกรัม

2. ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ที่มุ่งเน้นการนำวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีมาใช้ในการสังเคราะห์สารประกอบที่มีศักยภาพในการเป็นยา หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารประกอบเพื่อเพิ่มความสามารถในการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งมีที่มาจากการเกิดโรคอุบัติใหม่หลายชนิดในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นโรคติดต่ออันเกิดจากการพัฒนาของเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และจุลชีพต่าง ๆ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ และในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงในแต่ละปี การศึกษาวิจัยและสังเคราะห์สารประกอบที่มีศักยภาพในการเป็นยาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

3. หน่วยวิจัยและวิเคราะห์คุณภาพอาหารและยา (FDQ) ห้องปฏิบัติการทดสอบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการพัฒนายา ให้บริการทดสอบปริมาณโลหะหนักโดยใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ดำเนินการโดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

4. หน่วยวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้ เพื่อการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในสาขาชีวการแพทย์ ที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตมนุษย์ โครงการวิจัยการแปลผลกำลังดำเนินการในห้องปฏิบัติการหลายแห่งของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโครงการวิจัยที่นำความรู้พื้นฐานไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านการบำบัดและอาหารเสริม

5. ศูนย์สัตว์ทดลอง มีพันธกิจในการจัดการและการเลี้ยงสัตว์ทดลอง การรักษาพยาบาลสัตว์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลและการใช้สัตว์ รวมถึงประเด็นทางการแพทย์ของสัตวแพทย์ในการพัฒนากระบวนการการใช้สัตว์ สนับสนุนการปฏิบัติตามกระบวนการการใช้สัตว์ การฝึกอบรมในการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง และการรายงานข้อกำหนดต่อคณะกรรมการการดูแลและการใช้สัตว์ของสถาบัน

6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ มีหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างการพัฒนายาในระดับห้องปฏิบัติการและการใช้ทางคลินิก การพัฒนาชีวเภสัชกรรมเริ่มต้นจากการสร้างเซลล์สายพันธุ์ที่ผลิตชีวเภสัชกรรมที่น่าสนใจ การกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ การพิสูจน์ประสิทธิผลในหลอดทดลองและในร่างกาย การทดสอบพิษ และการศึกษาทางคลินิก การพัฒนาขั้นตอนและการขยายขนาดจนถึงการผลิตชีวเภสัชกรรมสำหรับใช้ทางคลินิกโดยปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนายา

ทั้งนี้ สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน