เริ่มแล้วมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” โชว์ผลงานในรอบ 5 ปีของการก่อตั้งกระทรวงอว. พลาดไม่ได้ 22-28 กรกฎาคมนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ “อว.แฟร์” จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัตมน์ ปลัดกระทรวง อว. และคณะผู้บริหาร เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ นางสาวศุภมาส ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร จากนั้น นายอนุทิน กราบบังคมทูลรายงานถึงการจัดงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง ที่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงวางพระหัตถ์บนแท่นอะคริลิกเปิดงาน ฯ จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ 6 โซนหลัก ได้แก่ 1.โซน SCIENCE FOR ALL WELL-BEING ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากนวัตกรรมของคนไทย 2.โซน SCIENCE FOR FUTURE THAILAND นำเสนอขบวนรถไฟแห่งอนาคต ฉายภาพให้เห็นประเทศไทยในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า 3.โซน INSPIRED BY SCIENCE ที่จะจุดประกายความคิด สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้ทุกคน 4.โซน SCIENCE FOR LIFELONG LEARNING เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมแนะแนวอาชีพแห่งอนาคต และ 5.โซน SCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH แสดงศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย 6.โซน STARTUP LAUNCHPAD ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการผลักดัน Startup ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ (Royal Pavilion) ก่อนจะทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารฯ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับงาน “อว.แฟร์” เป็นงานมหกรรมที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้าน Soft Power ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงาน ครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมและสาระความรู้ดี ๆ ผ่านนิทรรศการ 6 โซนที่แสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีของไทยและนานาชาติ บนพื้นที่กว่า 23,000 ตารางเมตร
ทั้งนี้แต่ละโซนมีการนำเสนอนิทรรศการที่น่าสนใจ เช่น “ดินดวงจันทร์จากยานอวกาศฉางเอ๋อ 5” ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ร่วมกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ( CNSA) ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจ TCP นำมาจัดแสดงในประเทศไทยและเป็นครั้งแรกที่จีนนำมาจัดแสดงนอกประเทศ ร่วมกับอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ของไทยที่จะติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 พร้อมนำเสนอผลงานการใช้โจทย์ดาราศาสตร์ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่างๆ
โดยยานฉางเอ๋อ 5 เป็นยานอวกาศลำแรกของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บตัวอย่างดิน และดินดวงจันทร์ ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และกลับสู่โลกในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมาประมาณ 2 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ของจีน (International Lunar Research Station: ILRS)
ภายใต้โครงการดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยนำโดย สดร.และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอโจทย์วิจัยด้านการสำรวจทรัพยากรบนดวงจันทร์ โดยจะนำอุปกรณ์ของไทย ชื่อ Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope: MATCH เพื่อตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูง (อิเล็กตรอน และโปรตรอน) ภายใต้รังสีคอสมิกในอวกาศ รวมทั้งศึกษาผลกระทบระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์อันเนื่องมาจากอนุภาคที่ตรวจวัด ข้อเสนอของไทยนี้นับเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกให้ติดตั้งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7
นอกจากไฮไลท์เรียกความสนใจจาก สดร. แล้วยังบูธนิทรรศการที่สามารถเรียกความสนใจจากน้องๆ รวมถึงผู้ปกครองที่ต่อแถวเข้าชมเป็นจำนวนมากตั้งแต่วันแรก อย่างเช่น คือ ยานอวกาศขนาดเสมือนจริง จาก GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศและทำให้เกิดความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจจากยานอวกาศที่มีความเสมือนจริงทุกองค์ประกอบ
ภายในตัวสถานีอวกาศลำนี้จะประกอบด้วยระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการสำรวจอวกาศ อาทิ ระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ SPACE WEATHER เพื่อการติดตามและเฝ้าระวังภัยพายุจากอวกาศ และระบบการแจ้งเตือนความเสี่ยงจากการชนกันกับวัตถุอวกาศ ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย
และอีกหนึ่งบูธที่คิวยาวไม่แพ้กัน ก็คือ ศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ T-CAVs ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือ วศ. ยกทั้งสนามฯ จำลองมาไว้ในงาน อว.แฟร์ ให้น้องๆ ได้บังคับรถผ่านจุดทดสอบต่างๆ อย่างสนุกสนาน
ที่สำคัญ…งาน อว.แฟร์ ครั้งนี้ ยังรวมงานสำคัญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาไว้ในที่เดียว เช่น งาน “SITE 2024” หรือ “STARTUP THAILAND x INNOVATION THAILAND EXPO 2024” ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “Innovation for Growth and Sustainability”
ขณะที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดงาน “Thailand Tech Show” และการบรรยายพิเศษ “ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2567” (10 Technologies to Watch 2024) ขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ที่เวทีกลาง โดยเป็นการคาดการณ์แนวโน้มของ 10 เทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและโลกธุรกิจในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ประกอบการต้องรู้และปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์โลกแห่งเทคโนโลยี นอกจากนี้จะมีการนำเสนอผลงานที่น่าลงทุนที่สุดแห่งปี
และในวันดังกล่าว ที่เวทีย่อย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ยังจัดพิธีมอบรางวัล “ PMUC Country 1ST Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ ” เพื่อมอบรางวัลให้กับ 13 โครงการที่นักวิจัยรวมถึงผู้ประกอบการที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างผลกระทบ( Impact)ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากทุน บพข.
อย่างไรก็ดีภายในงาน ยังมีการเฉลยข้อสอบ TCAS และการแนะแนวอาชีพในอนาคต และบูธแสดงผลงานจากผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ มากกว่า 300 บูธ และมีสินค้าที่พัฒนาจากวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้าด้าน Soft power อีกกว่า 200 รายการ มากกว่า 20,000 ชิ้น มาให้ช็อปอีกด้วย
ปิดท้ายวันแรกด้วย การแสดง “โดรนแปรอักษร เฉลิมพระเกียรติ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีโดรนในรูปแบบที่สร้างสรรค์และงดงามในการแสดงความเคารพ ซึ่งจะจัดแสดงเพียง 2 วัน ในวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 19.30 น. ณ ลานกลางน้ำ APEC2022 สวนเบญจกิติ
สำหรับงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าร่วมงานฟรี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.mhesifair.com และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/MHESIThailand