“มุ่งยกระดับผู้ประกอบการ เร่งให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน”
นี่ก็คือภารกิจหลักของ บพข. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนในสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
5 ปีนับจากการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน บพข. ซึ่งได้รับงบอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปแล้วกว่า 1,600 โครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท
จากตัวเลขการร่วมทุนวิจัยจากภาคเอกชน ตลอด 4 ปี (2563-2566) มีภาคเอกชนร่วมทุนกับ บพข. ไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท ในเกือบ 800 โครงการ และหากวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขการสุ่มประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ค่าตัวเลขผลกระทบ ไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี ของการประเมินในปี 2563 – 2564
แต่… เส้นทางการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะงานวิจัยที่เป็นดีพเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่บางผลงานนักวิจัยไทยใช้เวลาในการพัฒนาและสะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลาหลายสิบปี …
การผลักดันให้ผลงานเหล่านี้ “จับต้องได้” สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้ง องค์ความรู้ นักวิจัย เงินทุน และที่สำคัญก็คือผู้ประกอบการที่จะนำพาผลงานไปถึงมือผู้ใช้ประโยชน์
รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข.เน้นสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงที่มีมาตรฐานระดับสากล สร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม หรือ IDE สร้างความเชื่อมโยง และส่งเสริมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนวิจัยเพื่อเร่งผลักดันนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก รวมถึงการให้ทุนเพื่อเพิ่มกำลังคนทักษะสูง รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ไทย
ล่าสุด…เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบเส้นทางความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการที่ใช้งานวิจัยดีพเทคในการประกอบธุรกิจ บพข. ได้จัดพิธีมอบรางวัล “ PMUC Country 1ST Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ” โดยคัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับทุน บพข. ซึ่งมีผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ หรือใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมออกสู่ตลาด และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง
สำหรับ 13 โครงการที่ได้รับรางวัล PMUC Country 1ST Award ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
“ เมติคูลี่ กระดูกเทียมเฉพาะบุคคล” จากบริษัทเมติคูลี่ จำกัด โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน เป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการนี้เป็นการซ่อมแซมกระดูกบนใบหน้าคนไข้ด้วยกระบวนการออกแบบและการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัล และการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อเสริมสร้างโครงหน้าคนไข้ด้วยไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเมติคูลี่ได้รับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกฯ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายได้สูงสุด 48,000 บาท ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ผลักดันและขยายตลาดเครื่องมือการแพทย์ประเภทกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลที่เป็นสัญชาติไทย ไปสู่ต่างประเทศ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เครื่องมือการแพทย์กับหน่วยงาน อย. ในประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเกาหลี และประเทศไต้หวัน เป็นต้น
“ Pegfilgrastim ยาชีววัตถุกระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด” จากม.มหิดลและ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ เป็นหัวหน้าโครงการ
โดย Pegfilgrastim เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง PEG-GCSF ได้รับการขึ้นทะเบียน อย.สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว นำไปใช้เป็นยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยเป็น Biologic API ตัวแรกในประเทศไทยพัฒนาผลิตตั้งแต่ TRL 1-9 (API จนถึง Biolosimilar) ที่ผลิตโดย บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งยา Pegfilgrastim พัฒนาต่อจากยา Filgrastim เป็นยารูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นและออกฤทธิ์ได้ยาวกว่า โดยลดการขจัดยาออกทางไต ช่วยเพิ่ม ความสะดวกในการฉีดยาของผู้ป่วย โดยฉีดเพียงแค่ 1 เข็ม ต่อรอบการให้ยาเคมีบำบัด เทียบกับยา Filgrastim ที่ต้องฉีดยาทุกวัน ติดต่อกันจนกว่าจะพ้น nadir period อย่างน้อย 7-14 วัน นอกจากนี้ยังไม่ต้องปรับขนาดยา Pegfilgrastim ตามน้ำหนักตัวของคนไข้ โดยคนไข้ทุกรายใช้ขนาดยาเดียวกัน 6 mg/ครั้ง
“โรงงานต้นแบบผลิตสารสกัดกระท่อมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ จากสถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการนี้เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบในการผลิตสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหารที่ได้มาตรฐาน GMP มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์พืชกระท่อมในทางการแพทย์และอาหารเสริมด้านสุขภาพในเชิงพาณิชย์ โดยมีความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชุนในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ เช่น บ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และกระบุรี จังหวัดระนอง ในการใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชกระท่อมอินทรีย์คุณภาพปราศจากสารเคมีเพื่อใช้ในทางการแพทย์และอาหารมูลค่าสูง และมีความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO 17025 สำหรับตรวจสอบสารปนเปื้อน คุณภาพของสารสกัดกระท่อม ตลอดจนผลิตสารมาตรฐาน และได้ matching กับโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐาน GMP/PICs เพื่อขยายขนาดการผลิตออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์
“รถไฟสุดขอบฟ้า (beyond horizon): รถไฟไทยทำ” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล เป็นหัวหน้าโครงการ
เป็นรถไฟไทยทำ และเป็นตู้โดยสารต้นแบบคันแรกของไทย ที่เกิดจากการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ -เอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทย ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยพัฒนาเป็นตู้โดยสารรถไฟชนิด Luxury Class ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค มีการใช้วัสดุและอุตสาหกรรมในประเทศ คิดเป็น 76% (กรณีไม่รวมแคร่รถไฟ) ออกแบบและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด มีจำนวน 25 ที่นั่ง แบ่งเป็น Super-Luxury 8 ที่นั่ง และ Luxury 17 ที่นั่ง ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept สามารถนำไปใช้ให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะ 200-500 กิโลเมตร และประยุกต์ใช้กับรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. แบบเช่าเหมา ต้นทุนรถไฟโดยสารต้นแบบนี้ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 30% ต่อตู้ และได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน เกิดผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตมากกว่า 10 ราย
“CIRCULAR MARK” จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนและ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง เป็นหัวหน้าโครงการ
โดย CIRCULAR MARKเป็นนวัตกรรมระบบรับรองและฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักใน value chain ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นเครื่องมือการตลาด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพของสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มและความเข้มแข็งให้กับแบรนด์สินค้า รวมถึงลดการถูกกีดกันทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยปัจจุบันมีบริษัทนำร่องจำนวน 30 บริษัท และมี 376 ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการรับรองแล้วเป็นกลุ่มแรกของไทย และกลายมาเป็น Leading Circular Company ของประเทศ ลดปริมาณขยะฝังกลบ มีปริมาณวัสดุหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 182,160,092 กิโลกรัมต่อปี ประหยัดงบกำจัดขยะได้ถึง 102,577,552 บาทต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มของของเสีย 15,432 ล้านบาทต่อปี
“Zero Wastewater Discharge” จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีนายชาญวิทย์ พลบุปผา เป็นหัวหน้าโครงการ
เป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำอุตสาหกรรมอาหารที่มีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยใช้หลักการกรองขั้นสูง ระบบ UF (Ultra Filtration System) ที่มีความละเอียด 0.01 ไมครอนมาใช้บำบัดน้ำทิ้ง จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดออกมากลับมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป ส่วนน้ำทิ้ง (Bleed off) จากกระบวนการ RO ซึ่งยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก และน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบบำบัด UF และ RO ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเหลือทิ้งออกสู่ภายนอก ทำให้การปล่อยนำเสียจากสู่สาธารณะเป็นศูนย์ หรือ “ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งแม้แต่หยดเดียว” โครงการต้นแบบตั้งอยู่ที่ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำทิ้งได้สูงสุดถึงวันละ 9 ล้านลิตร
“น้ำมันหม้อแปลงชีวภาพชนิดติดไฟยาก” จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร. บุญญาวัลย์ อยู่สุข เป็นหัวหน้าโครงการ
เป็นน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพสัญชาติไทยเจ้าแรก มีคุณสมบัติการติดไฟยากกว่าน้ำมันหม้อแปลงชนิดน้ำมันแร่ 1.8 เท่า สามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้เองทางชีวภาพเมื่อหมดอายุการใช้งาน และยังสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลได้โดยไม่เสียค่าการกำจัด มีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน IEC62770 และมีกำลังการผลิตระดับ Pilot Scale 400 ลิตร/ครั้ง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจลดการเกิดน้ำมันปาล์มส่วนเกินได้ถึง 33 ล้านลิตร/ปี รายได้จากธุรกิจใหม่มีมูลค่า 4,900 ล้านบาท/ปี ลดการนำเข้าน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ 442.5 ล้านบาท/ปี น้ำมันปาล์มมีมูลค่าเพิ่ม 565 % ช่วยเกษตรกรมีรายได้ผลปาล์มสดสูงขึ้น และช่วยโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น
“แพลตฟอร์มจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเล เพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานผู้ประกอบการ” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัดโดยมี ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ เป็นหัวหน้าโครงการ
เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ pain point ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งประสบปัญหาการควบคุมการใช้พลังงาน การบริหารจัดการต้นทุนที่เกิดจากการใช้น้ำมันเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับการทำงานของเครนที่ทุ่นขนถ่ายสินค้าเทกองในกลางทะเล เช่น ข้าว ผลผลิตทางการเกษตร อาหารสัตว์ น้ำตาล แร่ธาตุ แร่เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ดิน หิน ทราย ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบการตรวจวัด และประเมินอัตราการน้ำมันดีเซลของเครนที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้าแต่ละชนิดได้ ทำให้การขนส่งสินค้าทางน้ำมีต้นทุนที่สูงมาก ระบบซอฟต์แวร์นี้จะเข้ามาช่วยในการจัดสรรเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าแต่ละทุ่น และยังมีระบบการตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในขนถ่ายสินค้าเทกอง และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Realtime โดยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งยังมีการจัดทำ Database สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system โดยสามารถแสดงผลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อให้บริหารจัดการการใช้พลังงานสำหรับงานขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบได้ไม่น้อยกว่า 10% โครงการนี้จะมีการนำไปขยายผลใช้กับบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังอีกกว่า 60 รายต่อไป
“การยกระดับมาตรฐานสุข อนามัยระดับสากล GBAC STAR ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตร่วมกับ บริษัท พิโซน่า ทัวร์ จำกัด, บริษัท เอส อี เอ คอนซัลติ้ง จำกัด, บริษัท ซี พาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท บางแสนบีชรีสอร์ท จำกัดโดยมีอาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป เป็นหัวหน้าโครงการ
โดย GBAC STAR คือการรับรองมาตรฐานสำหรับอาคาร ด้านการทำความสะอาดเพื่อการป้องกันการระบาด การจัดการ และการฟื้นฟูอาคารสถานที่จากภาวะการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด-19 และอันตรายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวที่ให้การรับรอง ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย ISSA-The Worldwide Cleaning Industry Association ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการที่ผ่านการรับรองทั่วโลกมากว่า 1,600 แห่งทั่วโลก การได้รับ GBAC STAR Accreditation จึงเป็นเครื่องหมายในการรับรองอาคารสถานที่ ว่าเจ้าหน้าที่ของสถานที่ หรือผู้ให้บริการ กำลังดำเนินการตามมาตรฐานสูงสุดของอุตสาหกรรมในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคของสารติดเชื้อเช่นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล ปัจจุบันมี หน่วยงานองค์กรต้นแบบ 4 แห่งในไทยที่ได้รับการรับรองนี้เป็นแห่งแรกของประเทศ ได้แก่ โรงแรมป่าตองเบย์ฮิลล์ (ประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระ มีเจ้าของเป็นคนไทย) ไทเกอร์มวยไทย (ประเภทสถานออกกำลังกาย) เกาะยาวใหญ่วิลเลจ และท่าอากาศยานภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต งานวิจัยนี้จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดเป็น Business unit สำหรับให้คำปรึกษาเพื่อการขอรับรองมาตรฐาน GBAC STAR แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นต่อไปด้วย
“ Winona Probio ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยสำหรับสตรีเจ้าแรก” จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกัน บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด โดยมี ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง เป็นหัวหน้าโครงการ
เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบโพรไบโอติกสำหรับสตรีโดยเฉพาะ ด้วยการนำเอาจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย จำนวน 2 สายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC 39-1 และ Bifidobacterium animalis TA-1 มาช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ของสตรี ทั้งยังช่วยในการลดน้ำตาลและไขมันในเลือด พร้อมทั้งมีส่วนผสมสารสกัดจากพืชที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะจากถั่วเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์เอสโตรเจนอ่อน ๆ (Phytoestrogen) ช่วยการป้องกันโรค กลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และปรับสมดุลภาวะแวดล้อมจุลชีพในช่องคลอดของสตรี ทั้งนี้โพรไบโอติกทั้ง 2 สายพันธุ์ ได้รับการพัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิคจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) โดยมีความร่วมมือระหว่าง บริษัท วิโนน่า เฟมินีน จํากัด และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว. ในการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่เหมาะสําหรับการดูแลสุขอนามัยและสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหลังหมดระดูโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนสรรพคุณกับ อย. และสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้แล้ว ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
“Thailand’s Taste of Tomorrow 2024” จาก Food Innopolis สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต กรุงลอนดอน, หอการค้าจังหวัดจันทบุรี, บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด และ บริษัท ซิลพิน เอเชีย จำกัด โดยมี ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม เป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการนี้ เป็นการต่อยอดนวัตกรรมอาหารไปสู่ตลาดโลกด้วย“แพลตฟอร์มส่งเสริมการตลาดสำหรับธุรกิจนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งได้คัดเลือก 10 สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสร้างสรรค์อาหารแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก ไปแสดงผลงาน London Tech Week 2024 ภายใต้ธีม “Thailand’s Taste of Tomorrow: Fostering the Future of Food, Faith and Flavours” ณ ริเวอร์ไซด์ สตูดิโอ กรุงลอนดอน ซึ่งนำเสนอประสบการณ์ในการชมผลงานเทคโนโลยีอาหารรูปแบบใหม่ที่มากกว่าการมองเห็น มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีกลิ่นรส สื่อ แสง เสียง และผสานเข้ากับศิลปะ วัฒนธรรมไทย
“แฟลตฟอร์มเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย” จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.)โดยมี ดร. นพดล นันทวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ
สำหรับเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (Terahertz Technology) เป็นคลื่นความถี่ที่อยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟและอินฟราเรด ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในการนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การสื่อสาร 5G/6G การแพทย์ และการตรวจสอบวัสดุ โครงการนี้ทางทีมวิจัยได้ทำการเสริมศักยภาพจากงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์เพื่อรองรับการขยายผลเชิงพาณิชย์ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจวัดขั้นสูงของประเทศไทย โดยนำร่องพัฒนา 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณเทระเฮิรตซ์เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง PCA (Tera-Ant) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณในระบบสเปกโทรสโกปีโดเมนเวลา (TDS) ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 2. แผ่นสะท้อนเมทะเซอเฟส (TeraBoost) อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณ 5G/6G ทำให้สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้นและลดต้นทุนการติดตั้ง
“ความสำเร็จธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง มาตรฐาน ISO 20387แห่งแรกของไทย” จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ
ธนาคารชีวภาพดังกล่าว เป็นแห่งแรกของไทยที่ได้รับการรับรองในระดับสากล ตามมาตรฐาน ISO 20387: 2018 ด้านธนาคารชีวภาพ โครงการธนาคารชีวภาพนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคลังจัดเก็บตัวอย่างทางคลินิกที่มีคุณภาพสูง และเป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัยชีวการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยได้อย่างเฉพาะเจาะจง.
“ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานวิจัยจะเป็นประจักษ์พยาน ถึงความเป็นเลิศของนักวิจัยไทยที่ไม่แพ้ชาติใด รวมถึงภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันทุ่มเทจนเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ มีคุณภาพกับประเทศ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อไป จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ ซึ่ง บพข. จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในทุกๆ ด้านต่อไป” ผู้อำนวยการ บพข. กล่าว